วงเสวนาศาลหวั่น หากยุบสะเทือนเชื่อมั่นต่างชาติ

ไทยรัฐ 5 เมษายน 2555 >>>




วงเสวนาเชื่อ หากยุบกระบวนการศาล จะทำให้ประเทศถอยหลังลดความเชื่อมั่นต่างชาติ อัดระบบทุนทำการศาลขาดความน่าเชื่อถือ อดีตอธิบดี มธ. เย้ย แก้รัฐธรรมนูญหรือไม่มีแค่คนเดียวที่สั่งได้ แผนปรองดองเป็นแค่ละครที่เล่นตามบท

เมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "ประเทศไทยยุคเปลี่ยนผ่าน ประเทศไทยกับศาล" เนื่องในวันครบรอบวันสัญญาธรรมศักดิ์ โดยมีผู้เข้าร่วมในการเสวนา นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายโภคิน พลกุล อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด นางรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา
นางรสนา กล่าวว่า ในฐานะที่ตนเคยใช้บริการของศาลปกครองและศาลรัฐธรรมนูญ เราเดินทางมาไกลมากแล้วที่จะกลับไปใช้ศาลเดี่ยว หรือมีคนที่อาจจะกำลังทำให้เป็นเครื่องมือทางการเมืองก็ได้ สัญญาณอันตรายต่อการศาลปกครองก็คือ การที่ไม่อยากไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ศาลจะต้องเป็นเครื่องมือที่สำคัญกับประชาชนในเรื่องของการเรียกร้องความยุติธรรม
   “เราต้องพยายามดูเรื่องที่ว่ายังมีอคติอยู่ไหม ศาลนั้นต้องเป็นผู้ให้ความยุติธรรมแก่ทั้งหมด ไม่ใช่ดูไบลอว์ที่จะเขียนไปตามอำเภอใจตัวเองตลอด แบบนั้นก็เป็นเรื่อง อย่างกรณีตอนนั้นที่ตัดสินเรื่องซุกหุ้นว่าบกพร่องโดยสุจรติ แบบนั้นก็ไม่เห็นด้วย การตัดสินทั้งหลายทั้งปวงต้องมีความตัดสินให้อย่างเป็นกลาง”
นางรสนา กล่าวต่อว่า การรวบอำนาจทำเป็นเพียงการรวบอำนาจของกลุ่มทุนที่ประสานกับนักเลือกตั้งที่จะเข้ามาในระบบแล้วคิดจะทำอะไรก็ได้กินรวบ ในที่สุดมันจะไม่มีความหมายอะไร การเปลี่ยนผ่านตรงนี้เป็นการเปลี่ยนผ่านคนเดียวที่ต้องการอยู่เหนือ รัฐธรรมนูญ ถ้าให้คืนทรัพย์สินก็ให้คนยึดอำนาจสมัยก่อนด้วย สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ประชาชนต้องจับตาดู
ด้านนายสุรพล กล่าวว่า ตั้งคำถามตัวเอง แต่ไม่มีคำตอบว่าเราจะต้องเปลี่ยนรัฐธรรมนูญกันเพราะอะไร ตนเองก็ยังตอบไม่ได้ เรายังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่าเพื่ออะไร มันมีปัญหาตรงไหนที่มันไม่ดี ส่วนข้อที่มีคนพูดมากสุดคือ มาจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับเดียวที่ลงมติเป็นครั้งแรก ก็ใช้ได้ดีทีเดียว มีการตั้งรัฐบาลมาแล้วถึง 4 คณะ แต่ก่อนเมื่อ รธน. ฉบับนี้ มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ก็ยังกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ อาจจะมีบทบัญญัติที่บางมาตราเท่านั้น ที่อาจจะมีปัญหามีคนไม่ชอบ แต่ก็น่าจะแก้แค่มาตรานั้น แต่นึกไม่ออกว่าว่าทำไมต้องทำกันทั้งฉบับ มีแต่พูดกันต่อๆ ไปว่ามาจาก คมช. เท่านั้น มีการตั้งธงไว้แล้วว่ามันไม่ดี แต่ก็ไม่มีใครพูดว่าจะแก้ตรงไหน เราก็รู้กันว่ามีคนไม่พอใจระบบศาล เราก็ไปเสกให้มีการดำเนินการบางอย่าง เพราะขึ้นอยู่กับคนคนนั้นว่าต้องการให้เป็นอะไร ง่ายที่สุดคือไปถามคนคนนั้นดีกว่าว่าต้องการจะเอายังไง
   “คงมีใครสักคนที่อยากจะให้แก้ รธน. แล้วก็มาตามกระบวนการ ทุกคนพอจะมีความเข้าใจว่ามันเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น เป็นละครที่กรรมาธิการที่ยังประชุมไม่เสร็จ เราก็รู่ว่ามีคนที่คุณก็รู้ว่าใครโทรมาบอก แล้วก็มีการนัดหารือเอาแผนปรองดองเข้าประชุม ก็มีคนบอกมาอย่างนั้น และคนนั้นก็เป็นผู้มีบารมี แต่เป็นเรื่องคนที่คนไทยรู้แต่ทำเหมือนไม่รู้ เรารู้อยู่แล้วว่าที่ประชุมสภาจะว่ายังไง เพราะมีคนสั่งให้ทำอย่างนั้น บ้านเรามีผู้บารมีตัวจริงว่าเป็นใคร แต่เราไม่รับ เราก็เชื่อไปตามละคร ใครถามก็ให้บอกว่าไม่รู้ และตอบว่าเพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติรัฐ ทุกๆ คนรู้ แค่ไปถามคนที่คุณก็รู้ว่าใครจะเอายังไงก็แค่นั้น ที่พูดกันในวันนี้ว่าจะมีประโยชน์หรือไม่ต้องไปถามคนนั้นคนเดียว” อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว
ด้านนายพีระพันธุ์ กล่าวว่า ประเทศไทยเรามีการพัฒนามาเรื่อยๆ เป็นวิวัฒนาการจนวันนี้เราเป็นระบบที่เป็นศาลคู่ ตนมาจากความเป็นผู้พิพากษามาก่อนมาทำงานการเมือง แม้จะชอบระบบศาลเดี่ยว แต่ก็คิดว่าใช้ศาลเดี่ยวในเมืองไทยไม่ได้ คนที่จะใช้อำนาจตุลาการจะต้องมีความรู้ความเข้าใจรอบด้านจริงๆ แต่ในระบบของศาลตอนนี้เป็นระบบข้าราชการ บุคลากรในอดีตจะถูกฝึกสอนเข้าในระบบหลักกฎหมายเป็นที่ตั้ง
   “ในขณะเดียวกัน ระบบยุติธรรมของบ้านเราไม่ต้องการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ไม่ต้องการฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ผมเชื่อว่าเขาสามารถทำได้ดี แต่ในระบบศาลยุติธรรม บุคลากรไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวการเมือง ไม่ต้องการข้อครหา คนอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องก็ไม่อยากยุ่งกับใคร เป็นเช่นนี้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ถ้ามามองในด้านรัฐธรรมนูญมันไม่ใช้ เพราะการที่ไม่ได้คลุกคลี ถ้าต้องพิจารณาคดีที่เกียวกับการเมืองจะขาดความเข้าใจในเรื่องนี้น้อยลงไป” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายพีระพันธ์ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมันมาไกลเกินกว่าจะกลับไปใช้ระบบศาลเดี่ยวแล้ว หากเราจะกลับไปให้มันค่อยๆ โตขึ้นมาใหม่ แต่ความเชื่อมั่นในระบบศาลไทยจะสิ้นสุดลง รัฐบาลเปลี่ยนได้ แต่ถ้ากระบวนการศาลปรับบ่อยๆ ความเชื่อจะไม่เหลืออะไร ถ้าหากมองปัญหาว่ามีเหตุผลอะไรที่ไม่ใช้ระบบศาลเดี่ยวพูดได้ แต่ถามว่ามีปัญหาอะไรที่จะต้องกลับไปทำ เพราะนี่คือระบบศาลยุติธรรมที่ต้องมีคนได้คนเสีย