สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล: วิจารณ์ "ประกาศนิติราษฎร์" ฉบับล่าสุด "ซับซ้อน" และ "ยุ่งเหยิง" ไป

มติชน 26 เมษายน 2555 >>>


นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความเห็นผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว ต่อประกาศคณะนิติราษฎร์ ฉบับที่ 34 ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 25 เมษายน มีเนื้อหาบางส่วน ดังนี้

ประเด็นใหญ่ที่ผมไม่เห็นด้วย (ผมมีประเด็นรองอีกประเด็น เกี่ยวกับเรื่องแก้ รธน. ที่จะพูดตอนท้าย) คือ ข้อเสนอของ อ.วรเจตน์ และนิติราษฎร์ ครั้งนี้ มีลักษณะไม่ practical คือ ยากจะทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง มากเกินไป
ต่างจากกรณีอื่นเกือบทั้งหมดที่ นิติราษฎร์ เคยเสนอ ไม่ว่าจะเรื่อง ล้างผลพวง รปห., ร่าง รธน.ใหม่ และแม้แต่แก้ 112 ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงการต่อสู้ทางความคิด อุดมการณ์ ซึ่งไม่สามารถหวังผลในระยะเฉพาะหน้าได้
แต่นี่เรากำลังพูดถึงปัญหาที่ผมมองว่า มีลักษณะเฉพาะหน้าอย่างยิ่ง โดยเฉพาะคือเรื่องอิสรภาพของคนหลายสิบคนที่ติดคุกมา 2 ปี หรือกว่านั้นแล้ว
ข้อเสนอของ อ.วรเจตน์-นิติราษฎร์ วางอยู่บนไอเดียสำคัญคือ แก้ รธน. เพิ่มหมวดว่าด้วยการขจัดความขัดแย้งขึ้น โดยที่ในหมวดที่เพิ่มขึ้นใหม่นี้ มีการกำหนดเกี่ยวกับโทษที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือเคลื่อนไหวการเมือง และตั้ง กรรมการ ขึ้นมาดูแลเรื่องนี้คณะหนึ่ง ดังที่ผมเขียนไว้ก่อนหน้านี้ ในตัวข้อเสนอ ไม่มีการระบุไว้ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่อง เนื้อหาของหมวดที่เสนอให้เพิ่มขึ้นใหม่นี้ โดยเฉพาะคือประเด็นที่ว่าโทษที่จะกำหนดมีอะไร เท่าไร
ทีนี้ ตามข้อเสนอนี้ ให้คดีต่างๆ ในขณะนี้ที่ โทษ ไม่ถึงขั้น (คือน้อยกว่า) โทษที่จะกำหนดไว้ในหมวดดังกล่าว เป็นอันได้รับการนิรโทษกรรมโดยทันที แล้วให้ "พัก" หรือหยุดดำเนินการกรณีที่เหลือ (ที่อาจจะมีโทษสูงกว่าที่กำหนดในหมวด) รอให้คณะกรรมการดังกล่าวมาพิจารณา ถ้าพิจารณาแล้ว เห็นว่า ยังอยู่ในข่ายที่ต้องดำเนินคดี ก็ให้ดำเนินคดี ถ้าไม่อยู่ในข่าย ก็ถือว่าให้นิรโทษกรรม (ย้ำว่า ในระหว่างกรรมการพิจารณา ก็จะปล่อย ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ ก่อน)
ปัญหาคือ การแก้ รธน. นั้น เป็นอะไรที่ยากอย่างยิ่ง อาจจะต้องใช้เวลาเป็นเดือน หรือถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา ผมไม่คิดว่า มีความเป็นไปได้เลยด้วยซ้ำ ที่ "ฝ่ายการเมือง" ไม่ว่า ค่ายใด จะเห็นด้วยกับข้อเสนอในลักษณะให้แก้ไข เพิ่มเติมหมวดดังกล่าวใน รธน.
ต่อให้สมมุติว่า เรามองในแง่ที่ดีที่สุด คือ มีโอกาสที่จะชักชวน รณรงค์ให้ "ฝ่ายการเมือง" เห็นชอบด้วย แล้วลงมือทำ ก็คงยังต้องใช้เวลาอยู่นั่นเอง (ทั้งในแง่การชักชวนให้เห็นด้วย และการลงมือแก้ รธน. จริงๆ)
แน่นอน ตามข้อเสนอนี้ ถ้าทำได้ถึงขั้นตอนนี้ ก็นับว่า สามารถทำให้คดีทุกคดีตอนนี้ บางส่วน "สิ้นสุด" โดยสิ้นเชิงเลย (พวกที่โทษไม่ถึง ตามหมวดที่เขียนใหม่) หรืออย่างน้อย "พักการดำเนินการ" (ปล่อยตัวออกมาก่อน)
ปัญหาว่า สำหรับคดีประเภทหลัง (ซึ่งคงรวม 112 ไว้ด้วยแน่นอน) หลังจาก "พักการดำเนินการ" แล้ว ให้มีคณะกรรมการพิจารณาว่าจะเข้าข่ายยกเลิกเลย หรือต้องดำเนินคดีต่อ ก็ยังน่าจะมีปัญหาที่ยืดเยื้อตามมาพอสมควร แต่เราสามารถมองข้ามไปก็ได้ ถ้าพิจารณาในแง่ที่ว่า อย่างน้อย ถ้าทำได้ถึงขั้นตอนที่ว่า ทุกคนหรือส่วนใหญ่อย่างน้อย ต้องได้รับการ "หลุด" ชั่วคราว (ปัญหาว่า คณะกรรมการเป็นใคร จะเลือกได้ด้วยวิธีใดที่เหมาะสม ก็ยังอาจจะเป็นปัญหา แต่เราสามารถข้ามเรื่องนี้ไปเช่นกัน)
ปัญหาอยู่ตรงที่ ถ้าพูดตรงๆ ผมรู้สึกว่า นี่เป็นข้อเสนอที่ "ซับซ้อน" และยุ่งยากเกินไป จนแทบจะเรียกว่า ไม่มีทางทำให้เป็นจริงได้เลย ในระยะเฉพาะหน้าที่เห็นกันขณะนี้
แน่นอน ที่ผมเสนอมาตลอดว่า น่าจะมีการออกเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยให้คลุมเฉพาะคนระดับธรรมดาของทุกฝ่าย ถ้ามองจากท่าทีของฝ่ายรัฐบาลที่คุมเสียงข้างมากในสภาตอนนี้ ก็อาจจะไม่เป็นจริงเช่นกัน แต่ผมคิดว่า น่าจะไม่เป็นการเกินเลยที่จะกล่าวว่า โดยเปรียบเทียบแล้ว โอกาสของการจะผลักดันให้เกิดการปฏิบัติได้ ยังต้องนับว่าห่างกันมากอยู่
ผมยังมีความลังเล ไม่แน่ใจ อีก 2 ประเด็น เกี่ยวกับข้อเสนอของ อ.วรเจตน์-นิติราษฎร์
ผมขอย้ำว่า ผมใช้คำว่า "ลังเล ไม่แน่ใจ" เพราะไม่ถึงกับไม่เห็นด้วย (ไม่เหมือนกรณีที่เพิ่งพูดไปข้างบน)
(ก) เรื่องที่ อ.วรเจตน์-นิติราษฎร์ เสนอให้ ไม่มีการนิรโทษกรรมโดยสิ้นเชิงต่อฝ่ายเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ตั้งแต่ระดับสั่งการ ถึงระดับที่ลงไปปฏิบัติการสลายการชุมนุม
ที่ผมลังเลคือ ไม่แน่ใจว่า ในทางปฏิบัติจะมีปัญหาหรือไม่ และจะเหมาะสมหรือแฟร์ หรือไม่
ผมเห็นด้วยว่า อาจจะมีบางกรณี เช่น สไนเปอร์ หรือ วัดปทุมฯ ที่ เป็นไปได้ ที่จนท. ที่ปฏิบัติการ สมควรจะต้องถูกดำเนินคดี
แต่โดยทั่วไป ที่ผมไม่แน่ใจคือ ในการสลายการชุมนุมปี 53 นั้น มีคนตายถึงประมาณ 100 คน บาดเจ็บประมาณ 2 พันคน หมายความว่า จนท. ที่เกี่ยวข้อง น่าจะมีจำนวนกว่าร้อยขึ้นไปแน่ อาจจถึง 200-300 คนขึ้นไปด้วยซ้ำ ถ้าไม่กว่านั้น
ปัญหาคือ การปฏิบัติของการดำเนินคดี จนท. อย่างน้อย กว่าร้อยคนนี้ หรือความเหมาะสม ความแฟร์
หรือว่า ที่ผมยังเอนเอียงไปมากกว่าคือ เอาเฉพาะระดับบัญชาการทั้งฝ่ายรัฐบาลและทหาร (หรือถ้าจะมีกรณีเฉพาะเกินกว่าระดับ เช่น ที่กล่าวมาเรื่องสไนเปอร์ หรือวัดปทุมฯ แต่อันนี้ ผมก็ยังไม่ค่อยแน่ใจ)
(ข) ประเด็นที่เป็นหัวใจของข้อเสนอของนิติราษฎร์ คือ การใช้วิธีแก้ เพิ่มเติม หมวด "ขจัดความขัดแย้ง" และตั้งคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งขึ้นมาใน รธน.เลย (แทนที่จะเพียงออกเป็น พ.ร.บ.นิรโทษกรรม)
ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า นี่จะเป็นเรื่องจำเป็นหรือเหมาะสมหรือไม่ คือ ในขณะที่เราอาจจะพูดว่า ประเทศไทย ก็มีโอกาสเกิดปัญหาแบบนี้ขึ้นอีกได้ แต่ความรู้สึกของผม (หรืออย่างน้อย ก็เป็นความหวัง) สิ่งที่เกิดขึน มีลักษณะ "เฉพาะกรณี" พอสมควร เลยไม่แน่ใจว่า จะถึงกับสมควรต้องเขียนเข้าไปในรัฐธรรมนูญหรือไม่
แต่เรื่องนี้ ยังไงก็ยังเป็นประเด็นรอง ประเด็นใหญ่ คือ โดยการเสนอในวิถีทางนี้ ผมมองว่า เป็นการเสนอที่แทบไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้เลย และปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะหน้า (คดีคนติดคุกต่างๆ รวมทั้ง 112) ที่น่าจะต้องการข้อเสนอที่มีลักษณะพอจะผลักดันให้เป็นจริงได้บ้าง (แม้จะไม่ การันตี ว่าจะได้) ก็น่าจะเหมาะสมกว่า
ขอเขียนถึง แถลงการณ์ล่าสุดของนิติราษฎร์ อีกนิดนะครับ แต่อันนี้เป็นทำนองเรื่องเล่าสู่กันฟัง แบบ "เกร็ด" หรือ "ภูมิหลัง" อะไรแบบนั้น คือจริงๆ เลยว่า ตอนที่ผมอ่านแถลงการณ์ครั้งแรกเมื่อบ่ายนี้ ผมมีความรู้สึก "ทึ่ง" มากๆ เกือบๆ จะเป็นความรู้สึกประเภทที่ฝรั่งเรียกว่า in awe เลย (โทษที นึกสำนวนไทยดีๆ ไม่ออกจริงๆ) แล้วทำให้ผมนึกถึงความรู้สึกอย่างเดียวกันเลยตอนปี 50 ที่ผมได้อ่าน แถลงการณ์ นิติราษฎร์ ที่ตอนนั้น ยังเป็น "5 อาจารย์ นิติ มธ." อยู่ เรื่องคัดค้านคำตัดสินยุบพรรคไทยรักไทยน่ะ ตอนนั้น ที่ผมได้อ่าน ก็มีความรู้สึกแบบนี้ คือ ทึ่ง หรือ in awe เลย
(ผมมารู้ทีหลังอีกหลายปี คือไม่นานมานี้เองว่า แถลงการณ์ฉบับนั้น อ.วรเจตน์ เป็นคนร่างเอง เหมือนฉบับนี้)
แต่หลังจาก "ความรู้สึกแรก" หรือ first impression ที่ว่านี้ผ่านไป ผมยอมรับว่า เริ่มรู้สึก "ใจหาย" และ "เพลีย" ไม่น้อยเหมือนกัน
คือรู้สึกอย่างที่เขียนวิจารณ์...นั่นแหละว่า นี่มัน too sophisticated (ซับซ้อนไป) หรือ too complicated (ยุ่งเหยิงไป) จนไม่มีทางที่จะมีวี่แวว จะผลักดันในทางปฏิบัติได้เลย
(ประมาณว่า แค่คนได้ยิน ก็คงงงมากๆ "แก้ รธน. เพื่อจัดการปัญหา คนติดคุก และ จนท.ปราบ-สังหารประชาชน")
แล้วก็อย่างที่วิจารณ์ไปว่า ผมรู้สึกมากๆ ว่า ปัญหาที่ urgent (เร่งด่วน) มากๆ ตอนนี้ คือ เรื่องคนหลายสิบคนติดคุกมา 2 ปีหรือกว่านั้นแล้ว ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องการระดับความซับซ้อน (level of sophistication) ของข้อเสนอแก้ปัญหา ที่ "ต่ำ" กว่าที่นิติราษฎร์ เสนอมามาก แบบ "ง่ายๆ" เลย คือ ออก พ.ร.บ.นิรโทษ มาปล่อยพวกเขา เข็นออกมาใน 1-2 สัปดาห์อะไรแบบนั้นเลย (ข้อเสนอนิติราษฎร์ เรื่องแก้ รธน. ตั้งกรรมการขจัดความขัดแย้ง ฯลฯ ต่อให้มองในแง่ดีที่สุด (ซึ่งก็ไม่คิดว่าเป็นการสมมุติที่เป็นไปได้นะ) ก็ต้องใช้เวลานานกว่าเยอะแน่ๆ แล้วที่สำคัญ มันยุ่งยากซับซ้อนในการ carry out ในการปฏิบัติกว่ามากแน่ๆ) 

ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล หนึ่งในนักวิชาการคณะนิติราษฎร์ ได้เข้ามาชี้แจงในหน้าเฟซบุ๊กของนายสมศักดิ์ว่า

เรียนอาจารย์สมศักดิ์ครับ

เดี๋ยวเราจะแถลงรายละเอียด พร้อมยกร่างตัวบทรายมาตรา และมีแผนผังอธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้น ในนั้นจะพูดเรื่องที่อาจารย์สมศักดิ์ถามทั้งหมด
ตอนแรก คิดว่าจะไปปล่อยตอนกลางมิถุนายน กะให้เรื่อง ครก.112 จบไปก่อน และก็การทำลงละเอียดต้องใช้เวลา ในขณะที่ช่วงนี้ต้องเตรียมตรวจข้อสอบกัน
แต่วันนี้ หลังจากคุยกันเพิ่งแยกย้ายเมื่อครู่ กำลังคิดว่า ถ้ามีการถาม หรือสงสัย เราอาจเร่งขยับขึ้นมาเดือน พ.ค. ครบรอบ 2 ปี สลายชุมนุมพอดี