วิปฝ่ายค้านเชื่อขยายสมัยประชุมหวังแก้ รธน.

กรุงเทพธุรกิจ 3 เมษายน 2555 >>>




วิปฯฝ่ายค้านไม่เชื่อลมปากรัฐบาลอ้างขยายเวลานิติบัญญัติพิจารณากฎหมายเพื่อ ปชช. จวกชัดเจนหวังเปิดช่องใช้แก้ รธน. ตามใบสั่ง

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฯฝ่ายค้าน) แถลงถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ขยายสมัยการประชุมนิติบัญญัติ ออกไปอย่างไม่มีกำหนด ว่า ไม่เชื่อว่าจะเป็นไปตามข้ออ้างของรัฐบาลที่อ้างว่าขยายเวลาเพื่อพิจารณากฎหมายที่ค้างอยู่ทั้ง 32 ฉบับ และเพื่อออกกฎหมายเพื่อประชาชน หรือแก้ไขปัญหาปากท้องจริงๆ
แต่เชื่อว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเร่งรัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อรองรับการนิรโทษกรรมในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ทั้งนี้ก่อนหน้านี้วิปฯรัฐบาล ประกาศจะขยายสมัยประชุมออกไปถึงวันที่ 1 พ.ค. แต่มติ ครม. กลับขยายออกไปอย่างไม่มีกำหนด เสมือนเป็นการตั้งเป้าจะขยายจนกว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการจะบรรลุ เช่นเดียวกับการแก้รัฐธรรมนูญที่มีความพยายามเร่งรัดตามใบสั่ง และเป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่าใบสั่งมาจากไหน
นายจุรินทร์ กล่าวอีกว่า จากเดิมที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … มีการประชุมในวันพุธ-พฤหัสบดี ก็มาเพิ่มวันอังคาร อีกหนึ่งวัน และกำหนดการพิจารณาวาระ 2-3 ล่วงหน้า สะท้อนพฤติกรรมว่าเป็นการเร่งแก้รัฐธรรมนูญตามใบสั่ง และที่ต้องตำหนิคือกระบวนการพิจารณาของกรรมาธิการฯ
โดยเฉพาะการพลิกมติในมาตรา 291/1 โดยใช้เสียงข้างมากหักดิบผลที่เคยโหวตไปแล้ว ทำให้เข้าใจเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ว่าเป็นการใช้วิธีประชาธิปไตยเถื่อนมาหักดิบ ถ้ารัฐบาลต้องการจริงๆ สามารถนำเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขได้ จึงเชื่อว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นการเร่งรัดทั้งเวลา เป้าหมาย และเนื้อหา เพื่อนำไปสู่การนิรโทษกรรม และประโยชน์ของคนบางคน อย่างไรก็ตาม ส.ส.ประชาธิปัตย์ ได้แปรญัตติเอาไว้ และสงวนคำแปรญัตติไว้ทุกคนแล้ว

ยันคัดค้านบรรจุวาระปรองดองสุดตัว เหตุรับไม่ได้เป็นรายงานเถื่อน

นายจุรินทร์ ยังกล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 4 มิ.ย. นี้ ที่จะมีวาระการพิจาณารายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาผู้แทนราษฎร ว่า การบรรจุวาระดังกล่าวเป็นการเร่งรีบ รวดรับเข้าสภาฯ ซึ่งสอดคล้องเป็นกระบวนการเดียวกันกับการแก้รัฐธรรมนูญ และขยายสมัยประชุมนิติบัญญัติออกไป
ทั้งนี้ทราบมาว่าจะมีการเลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้สภาฯ มีมติรับรองรายงานเถื่อน มีเป้าหมายเพื่อนำไปอ้างอิงการนิรโทษกรรม และการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี โยนทุกเรื่องให้เป็นเรื่องของสภาฯ เป็นการทำเสมือนว่าให้ความสำคัญต่อสภาฯ เพราะรู้ว่าเมื่อเข้าสภาฯ แล้วคนบางคนจะได้ประโยชน์ เนื่องจากรัฐบาลมีเสียงข้างมาก แต่กับกรณีผลประโยชน์ของประชาชน อย่างการชี้แจงกระทู้ถาม กลับหนีสภาทั้งนี้หากจะมีการเลื่อนวาระดังกล่าวขึ้นมาทางฝ่ายค้านจะคัดค้านอย่างเต็มที่ เพราะเป็นรายงานเถื่อน

ส.ส. 5 จว. ใต้ ปชป. ยื่นหนังสือถึงนายก ขอเปิดอภิปรายทั่วไป ดับไฟใต้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ส. 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ของพรรคประชาธิปัตย์ นำโดยนายถาวร เสนเนียม ส.ส.สงขลา และรองหัวหน้าพรรค ดูแลภาคใต้ ได้จัดประชุมภายหลังเกิดเหตุระเบิดคาร์บอมที่จ.ยะลาและ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยใช้เวลากว่า 1 ชั่วโมง ทั้งนี้ภายหลังการประชุมนายถาวร เปิดเผยว่าที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ในวันนี้ (3 เม.ย.) เพื่อขอให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภา อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 เพื่อหารือถึงเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนั้นที่ประชุมยังมีมติยื่นกระทู้ถามสดเรื่องนี้ ในที่ประชุมสภาฯ ในวันที่ 5 เม.ย. นี้ด้วย
   “การยื่นหนังสือขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติครั้งนี้ เป็นการขออภิปรายในช่วงการขยายเวลาของสมัยประชุมนิติบัญญัติ แต่หากรัฐบาลอ้างว่าสมัยประชุมนี้ไม่สามารถอภิปรายได้นั้น ผมก็ต้องถามกลับว่าทำไมนำเรื่องปรองดองเข้ามาอภิปรายในช่วงนี้ได้” นายถาวร กล่าว
นายถาวร กล่าวต่อว่า ตนในฐานะเป็นอดีต รมช.มหาดไทย รับผิดชอบแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เห็นว่าการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีความแตกต่างกับรัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ทั้งที่มี พ.ร.บ.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)เป็นเครื่องมือสำคัญ และเป็นกฎหมายที่ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ โดยออกแบบให้นายกฯเป็น ผอ.ศอ.บต.โดยตรง เนื่องจากนายกฯ เป็นผอ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) อยู่แล้ว จึงอยากให้นายกฯ มารับผิดชอบแก้ไขปัญหาโดยตรง เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพทั้งนโยบายและยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหามากขึ้น
นายถาวร กล่าวว่า รัฐบาลต้องใช้ พ.ร.บ.ศอ.บต. เรียกประชุมเดือนละ 1 ครั้งหรือ 2 ครั้ง เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาโดยตรง และต้องแต่งตั้งรัฐมนตรีไปนั่งอยู่ในส่วนหน้าเหมือนกับตนที่เคยทำหน้าที่ตรงนี้ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบสถานการณ์จุดใดหละหลวมก็จะได้ขันน๊อต ขณะเดียวกันต้องแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหา คอยติดตามประเมินผลอย่างใกล้ชิดด้วย แต่ที่ผ่านเมื่อไม่มีการติดตามดูแลแก้ไขปัญหา ทำให้แผนปฏิบัติการเกิดความหละหลวม ไม่เป็นไปตามสถานการณ์พิเศษ ซึ่งจะต้องมีการกำหนดเขตเซฟตี้โซน เพราะเรื่องนี้ยังมีความจำเป็น และปฏิบัติการอย่างเคร่งครัด รวมทั้งการทำงานยังต้องมีความเป็นเอกภาพ แต่หากรัฐบาลคิดที่จะแก้ไขปัญหาอยู่บนหอคอยงาช้าง ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และรัฐบาลต้องจริงใจ จริงจังในการแก้ไขปัญหา เพราะขณะนี้ไม่จริงใจ มองแค่เป็นปัญหาท้องถิ่น การอ้างว่าเหตุระเบิดคาร์บอมที่เกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ยึดทรัพย์กลุ่มค้ายาเสพติด เห็นว่า เป็นข้อแก้ตัวที่ฟังไม่ขึ้น แต่เป็นเพราะการทำงานขาดความเป็นเอกภาพมากกว่า ฝ่ายปฏิบัติการด้านความมั่นคงกับฝ่ายการเมืองต่างแย่งชิงการนำ โดยฝ่ายการเมืองอ้างว่าได้ไปเจรจากับแกนนำกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่ และการอ้างเรื่องการปราบยาเสพติด ซึ่งที่ภาคเหนือก็มียาเสพติดจำนวนมาก ทำไมไม่มีเหตุระเบิดเกิดขึ้น
นายถาวร กล่าวอีกว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นตำรวจเชิงพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้มีการย้าย พ.ต.อ.จิรวัฒน์ พยุงธรรม ผกก.สภ.หาดใหญ่ ไปช่วยราชการที่ ตำรวจภูธรภาค 9 ภายหลังที่มีการจับตู้ม้า 6 แห่งในพื้นที่ แต่เรื่องนี้ก็ยังไม่มีตั้งคณะกรรมาสอบสวนแต่อย่างใด ขณะเดียวกันได้มีการโยกย้าย พ.ต.อ.คมกฤช ศรีสงค์ มาทำหน้าที่ ผกก.สภ.หาดใหญ่ แทน พ.ต.อ.จิรวัฒน์ ตนขอตั้งข้อสังเกตุว่าในช่วงเทศกาลสำคัญ เหตุใดจึงกิดความหละหลวมในการป้องกันเหตุร้ายจนส่งผลให้มีเหตุระเบิดเกิดขึ้น
นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จากที่มีข่าวปรากฎเรื่องการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบก่อนหน้านี้นั้นเป็นการชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ควรเอาเรื่องในที่ลับมาเปิดเผยในที่แจ้ง เพราะจะกระทบกับนโยบายและสถานการณ์โดยภาพรวม ส่วนข่าวที่ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศมาเลเซียก่อนหน้านี้ เพื่อขอให้ นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีสหพันธรัฐมาเลเซีย เจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณ คือสัญลักษณ์ของความรุนแรงในพื้นที่ ขอร้องว่าอย่าเข้ามายุ่ง ส่วนเรื่องนโยบายต่างๆขอให้รัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการดีกว่า ทั้งนี้ส่วนตัวเชื่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นครั้งล่าสุดส่วนหนึ่งน่าจะเกิดจากความไม่พอใจท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ครั้งนี้ด้วย
ด้านนายประเสริฐ พงษ์สุวรรณศิริ กล่าวว่า ความจริงแล้วรัฐบาลไม่ต้องรอให้พวกตนมาเรียกร้องให้เปิดประชุมร่วมรัฐสภา เพราะเหตุการณ์นี้มีผู้เสียชีวิตร่วม 20 คน บาดเจ็บสาหัสเกือบ 50 คน แม้จะอยู่ถึงสหรัฐอเมริกาก็ต้องยกเลิกกำหนดการและบินกลับมาทันทีแล้วเรียกประชุมครม.ฉุกเฉินและเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อรับฟังความคิดเห็นทันทีจึงจะสร้างความเชื่อมั่นและสร้างขวัญกำลังใจให้กับประชาชนได้ แต่นายกรัฐมนตรีกลับเดินทางไปประเทศกัมพูชา ทั้งนี้ ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาล 5 ข้อคือ
1. รัฐบาลต้องไม่หละหลวมและเปิดโอกาสให้เกิดการใช้ความรุนแรง
2. รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา เพราะตลอด 7 เดือนที่รัฐบาลบริหารงานมานั้นแนวโน้มเหตุการณ์ความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกวันแต่รัฐบาลยังเพิกเฉยไม่กระตือรือร้นแก้ไขปัญหา
3. รัฐบาลต้องแสดงและแสวงหาความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
4. รัฐบาลต้องให้เวลาและให้พื้นที่ในการนำเสนอการแก้ไขปัญหาก่อนที่จะเกิดเหตุความรุนแรง และ
5. รัฐบาลต้องยอมรับความจริง ไม่แสดงความเก่งหากไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เพื่อที่จะได้รับฟังความเห็นจากภาคส่วนอื่นๆ