สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี: จะรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญของทหาร ?

ประชาไท 26 เมษายน 2555 >>>


นักการเมืองและนักนิยมทหารในประเทศอื่นใช้เพื่อตีกันคู่แข่งทางการเมืองของตัวในการเลือกตั้งเช่นกันแต่บังเอิญว่าไม่ค่อยมีคนเชื่อถือเท่าไหร่ เพราะเอาเข้าจริงการแสดงการยอมรับหรือไม่ยอมรับสิ่งใดอาจจะใช้ได้แค่ระดับกลยุทธทางการเมืองระยะสั้นเท่านั้นในที่สุดเอ็นแอลดีก็กลับเข้าสู่การเมืองในระบบเมื่อเห็นว่าสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทั้งๆที่กฎเกณฑ์เดิมที่ตัวเองรังเกียจก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลยแม้แต่น้อย
ถ้าเช่นนั้นการเกี่ยงงอนเรื่องคำสาบานเล็กๆน้อยๆ ซึ่งไม่มีผลในทางปฎิบัติอะไรเลยแบบนี้จะทำไปทำไม ในทางการเมืองก็มีความหมายแค่ว่า พรรคเอ็นแอลดี ไม่ได้ยอมรับกฎเกณฑ์ของทหารโดยดุษฎี ความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงมันยังจะไม่หมดไป
เรื่องนี้พอจะทำให้มีความหมายในเชิงสัญญลักษณ์ความเป็นประชาธิปไตยในพม่า หรือเห็นเป็นทางทางออกได้หรือไม่ ความจริงก็พอมีทางอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าพลเอกเต็งเส่งและพรรครัฐบาลจะอยากรักษาความเป็นพลังประชาธิปไตยที่บริสุทธิผุดผ่องของเอ็นแอลดีและอองซานซูจีเอาไว้แค่ไหน ถ้าเต็งเส่งใจกว้างหน่อยอาจจะต้องยอมเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในสภาแห่งสหภาพบางประการ กล่าวคือยอมให้สมาชิกกล่าวคำปฏิญาณตนอย่างใดก็ได้ตามใจชอบหรือตามอุดมการณ์ทางการเมืองของพวกเขา
ถ้าทำอย่างนั้นพม่าก็ไม่ใช่ประเทศแรกในโลกหรอกที่ทำกันแบบนี้ ในสภาอังกฤษมีคำปฏิญาณมากกว่า 1 แบบให้สมาชิกเลือกเปล่งวาจาสาบานตามความเชื่อของตัวเอง เรื่องสบถสาบานอะไรนี่มันก็เป็นเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลอยู่แล้วจะบังคับกันได้อย่างไร
ในปี 2010 สภาอังกฤษยอมให้สมาชิกพรรค Sinn Fein ของไอแลนด์เหนือเขียนคำสาบานก่อนเข้ารับตำแหน่งเอง เพราะพวกเขาไม่สบายใจที่จะเปล่งวาจาว่าจะจงรักภักดีต่อสมเด็จพระราชินีแห่งอังกฤษ
อันที่จริงนี่ก็น่าจะเป็นหลักการแห่งประชาธิปไตยที่แท้จริง ประเทศประชาธิปไตยจริงๆนั้นอุดมการณ์หลายแบบสามารถอยู่ด้วยกันได้ มันเป็นเรื่องขัดกับหลักการพื้นฐานในการปกครองมากเลยหากจะบังคับให้สมาชิกซึ่งไม่นับถือศาสนาคริสต์วางมือบนพระคัมภีร์แล้วเปล่งวาจาว่าจะเชื่อถือในพระเจ้าหรือขอให้พระเจ้าคุ้มครอง หรือ จะให้สมาชิกซึ่งมีอุดมการณ์แบบสาธารณรัฐเปล่งวาจาว่าจะจงรักภักดีต่อกษัตริย์ ต่อให้ประเทศนั้นเป็นราชอาณาจักรเรื่องแบบนี้ก็เกิดขึ้นได้ สมาชิกรัฐสภาสามารถทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของชาติได้โดยที่พวกเขาไม่จำเป็นต้องมีความจงรักภักดีต่อประมุขของรัฐ แต่ในหลายประเทศก็ไม่ยอม เพราะถือว่าการจงรักภักดีต่อประมุขของรัฐเป็นการทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติอย่างหนึ่ง ถึงแม้ว่าพฤติกรรมอย่างอื่นเขาจะสารเลวเพียงใดก็รับกันได้ หากเขาเหล่านั้นอ้างว่าตัวจงรักภักดี
ในกรณีของพม่า อองซานซูจีและพรรคเอ็นแอลดี จะไม่เปล่งวาจาสาบานว่าจะปกป้องรัฐธรรมนูญซึ่งพวกเขาไม่ชอบก็ไม่เห็นเป็นไร ตราบเท่าที่เขาพูดว่าเขาจะยังเคารพมันอยู่ หรือ ต่อให้ไม่พูดอะไรเลย ในฐานะกฎหมายพวกเขาก็หนีสภาพบังคับของมันไปไม่พ้นอยู่แล้ว
คำถามต่อไปคือ ถ้าเต็งเส่งยอมให้มีคำปฏิญาณในรัฐสภาได้หลายแบบ และพรรคเอ็นแอลดีเลือกเอาแบบที่ไม่ต้องปกป้องรัฐธรรมนูญ วันข้างหน้าเกิดบังเอิญจะด้วยอะไรก็ตามที เกิดมีการแก้ไขเนื้อหา ถ้อยคำในรัฐธรรมนูญ ลดบทบาททหารลงได้ตามที่อองซานซูจีต้องการ หรือ เอาถึงขนาดว่าแก้ไขคุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีให้คนที่เคยสมรสกับชาวต่างชาติเป็นประมุขของรัฐและประมุขรัฐบาลได้ ถึงวันนั้นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้จะมีค่าสำหรับพรรคเอ็นแอลดีที่ควรจะ “ปกป้อง” มันหรือไม่ และถ้าหากมีคณะนายทหารรุ่นหนุ่มอยากจะฉีกมันเพื่อพาประเทศกลับไปเป็นอย่างเก่าในอดีต หรือ ปกครองแบบไม่มีรัฐธรรมนูญเลยเหมือนช่วงปี 1988-2008 พรรคเอ็นแอลดีและอองซานซูจีก็จะไม่ปกป้องรัฐธรรมนูญที่ตัวเองอุตส่าห์ลงทุนลงแรงแก้ไขมันมาเลยหรือ
ไม่มีใครรู้หรอก ถึงวันนั้นอองซานซูจีอาจจะออกมาเรียกร้องให้ประชาชนพม่าทั้งมวลปกป้องรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันนี้ก็ได้