โพลวันแรงงาน ครวญชีวิตความเป็นอยู่ในปีนี้แย่กว่าปีที่ผ่านมา เทียบแล้ว "ปู"ดูแลดีกว่า "มาร์ค" !!!

มติชน 30 เมษายน 2555 >>>


1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดที่เข้ามาบริหารงานก็จะให้ความสำคัญ และมีนโยบายในการส่งเสริม สนับสนุนแรงงานให้เหมาะสมกับสภาพสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป เนื่องจากผู้ใช้แรงงานเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะการดำรงชีวิตในปัจจุบันที่ประสบปัญหาต่างๆหลายด้าน “สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานไทยตามจังหวัดใหญ่ทั่วประเทศ จำนวน 1,440 คน ระหว่างวันที่ 25-30 เมษายน 2555 สรุปผลได้ดังนี้

1. ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ใช้แรงงานไทยใน “ปีนี้ (พ.ศ. 2555)” เมื่อเทียบกับ “ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2554)”

  • อันดับ 1 ปีนี้แย่กว่าปีที่ผ่านมา 44.45% เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ต้องนำเงินไปซ่อมแซมหรือช่วยเหลือที่บ้าน ,ค่าครองชีพสูงขึ้น ฯลฯ
  • อันดับ 2 เหมือนๆเดิม 31.94% เพราะเงินเดือนค่าจ้างรายวันยังเท่าเดิมรายได้กับรายจ่ายพอๆกันมีกินใช้ไปวันๆ
  • อันดับ 3 ปีนี้ดีกว่าที่ปีผ่านมา 23.61% เพราะเงินเดือนขึ้นค่าจ้างเพิ่มได้เลื่อนตำแหน่ง, ภาระครอบครัวลดลง ลูกเรียนจบมีงานทำ ฯลฯ

2. “ความหนักใจ” ของผู้ใช้แรงงานไทย ณ วันนี้ คือ

  • อันดับ 1 สินค้าราคาแพง ค่าครองชีพต่างๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น 60.75%
  • อันดับ 2 เงินไม่พอใช้ /เงินเดือน ค่าจ้างที่ได้ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมปัจจุบัน 29.74%
  • อันดับ 3 ภัยธรรมชาติ ภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือการดำรงชีวิตประจำวัน 5.70%
  • อันดับ 4 สวัสดิการ การคุ้มครองดูแลต่างๆให้กับผู้ใช้แรงงาน โดยเฉพาะเรื่องการรักษาพยาบาลค่าเล่าเรียนของบุตรหลาน เป็นต้น 3.81%

3.  “ผู้ใช้แรงงานไทย” ควรทำอย่างไร ? ชีวิตความเป็นอยู่จึงจะดีขึ้น

  • อันดับ 1 ประหยัด อดออม มีการวางแผนในการใช้จ่าย อยู่อย่างพอเพียง 60.15%
  • อันดับ 2 ขยัน ทำงานเยอะๆ ไม่เลือกงาน 23.43%
  • อันดับ 3 ต้องพัฒนาตัวเองให้มีความรู้และมีฝีมือเป็นที่ยอมรับ 9.38%
  • อันดับ 4 ตัดในเรื่องที่ไม่จำเป็นออกไปบ้าง เช่น เหล้า บุหรี่ การพนัน 7.04%

4.  “รัฐบาล” ควรทำอย่างไร ? ชีวิตความเป็นอยู่ของ “ผู้ใช้แรงงานไทย” จึงจะดีขึ้น

  • อันดับ 1 ขึ้นเงินเดือน ค่าจ้าง และดูแลสวัสดิการต่างๆให้เหมาะสมกับสภาพสังคมปัจจุบัน 45.88%
  • อันดับ 2 ควบคุมราคาสินค้า แก้ปัญหาของแพง จัดงานธงฟ้า /ลดค่าสาธารณูปโภค 39.41%
  • อันดับ 3 ควบคุมดูแลนายจ้างหรือผู้ประกอบการไม่ให้เอาเปรียบแรงงานไทย/การจ้างแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานโดยผิดกฎหมาย 7.64%
  • อันดับ 4 มีการจัดฝึกอบรมแรงงาน ส่งเสริมอาชีพ/ จัดหางานให้แก่ผู้ว่างงานหรือตกงาน 7.07%

5. เปรียบเทียบการดูแลผู้ใช้แรงงานระหว่าง รัฐบาลยิ่งลักษณ์กับรัฐบาลอภิสิทธิ์ เป็นอย่างไร?

  • อันดับ 1 ดูแลพอๆกัน 43.26% เพราะกลุ่มผู้ใช้แรงงานเป็นฐานเสียงที่สำคัญ การดูแลช่วยเหลือต่างๆจะพิจารณาจากสภาพสังคมและเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ  ฯลฯ
  • อันดับ 2 “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ดูแลดีกว่า 25.53% เพราะมีความเข้าใจและเข้าถึงประชาชนระดับรากหญ้าหรือผู้ใช้แรงงานมากกว่า, มีนโยบายขึ้นเงินเดือน ค่าแรงที่ชัดเจน ฯลฯ
  • อันดับ 3 ไม่ดูแลพอๆกัน 16.32% เพราะไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารบ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ก็ยังเหมือนเดิม, ดีแต่พูด ฯลฯ
  • อันดับ 4 “รัฐบาลอภิสิทธิ์” ดูแลดีกว่า 14.89% เพราะมีโครงการส่งเสริมสนับสนุนเกี่ยวกับผู้ใช้แรงงาน โครงการแรงงานคืนถิ่น, การปรับขึ้นค่าแรงให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นของในแต่ละภูมิภาค ฯลฯ