ประชาไท 4 เมษายน 2555 >>>
เป็นที่ทราบกันว่าในบ้านเรานั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เสาหลักทางจริยธรรม” ของประเทศ เป็นแบบอย่างของ “คนซื่อสัตย์สุจริต” และเป็นผู้หนึ่งที่ออกมาพูดย้ำเรื่อง “คนดี” และ “คุณธรรมจริยธรรม” มากที่สุด
โดยเฉพาะในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยา เขาออกเดินสายพูดเรื่องคุณธรรมจริยธรรม และคนดีหลายครั้ง กระทั่งรับรองบุคคลที่จะขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐประหารว่า “สุรยุทธ์เป็นคนดีที่สุด” และต่อมายังกล่าวสนับสนุนบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ในรัฐบาลที่ไปตั้งในค่ายทหารว่า “ประเทศไทยโชคดีที่ได้อภิสิทธิ์เป็นนายกฯ” (ซึ่งเราได้ประจักษ์แล้วว่า ประเทศนี้โชคดีขนาดไหนที่มีนายกฯสั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองซึ่งมีคนตาย 92 ศพ และยังแถมท้ายด้วยการปะทะระหว่างกองทัพไทย-กัมพูชาอีก โดยที่ทั้งหมดนั้นอภิสิทธิ์ยืนยันอย่างแข็งขันว่า “ไม่ใช่ความผิดใดๆ ของเขาเลย”)
วันนี้เมื่อบรรยากาศทางการเมืองทำท่าว่าจะเกิด “สงครามปรองดอง” พลเอกเปรมเริ่มออกบรรยายเรื่อง “คนดี” และ “คุณธรรมจริยธรรม” อีกแล้ว และทิ้งท้ายด้วย “คำสาปแช่ง” ตามเคยว่า "ผมเชื่อว่าชาติบ้านเมืองเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่มีใครมีสิทธิยึดถือเป็นของตนเองได้ ผมเชื่อว่าพระสยามเทวาธิราชมีจริง และจะปกป้องคนดี และสาปแช่งคนไม่ดี คนทรยศต่อชาติบ้านเมืองให้พินาศไป…"
นี่คือคำกล่าวทิ้งท้ายในการบรรยายพิเศษ เนื่องในโอกาสครบรอบ 12 ปี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ (ดูมติชนออนไลน์ 3 เมษายน 2555)
คนดีคือคนเช่นไร? พลเอเปรมอธิบายว่า “คนดี” ต้องมีคุณลักษณะ 9 ประการ คือ
1. จงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
2. ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละและจงรักภักดี
3. คนที่เป็นผู้บังคับบัญชา ต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างกับผู้ใต้บังคับบัญชา คนเป็นนายคนต้องมีความเมตตา เป็นธรรม เป็นนายคนต้องมีแต่ให้ และรับได้อย่างเดียว คือ รับความทุกข์ ความลำบากยากเข็ญของคนอื่น มาแก้ไข
4. หาทางขจัดความยากจน
5. ยึดถือ และปฏิบัติตามพระบรมราโชวาทและพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
6. ต้องทำงานให้คุ้มค่า คุ้มเวลาและคุ้มความเป็นคน ซึ่งตนใช้วิธีทำงานที่ยึดถือมา คือ สะดวก เรียบง่ายและประหยัด หากคนที่นำไปใช้เชื่อว่าจะได้ประโยชน์
7. ดำรงวัฒนธรรมไทย เช่น วัฒนธรรมการละเล่นท้องถิ่นของภาคใต้ กลาง อีสาน เหนือ การพูดภาษาถิ่น โดยตนขอพูดตรงๆ ว่าไม่ควรจะเห่อฝรั่ง ไม่ควรลอกเลียนฝรั่ง จนไม่เหลือความเป็นไทย
8. พวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ ต้องถือว่าเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องดูแลยุวชน เยาวชนให้เติบโตมาเป็นคนดีของชาติบ้านเมืองให้ได้
9. ต้องมีจริยธรรมและคุณธรรม ผมว่าคนดีเท่านั้นที่จะมีคุณธรรมและจริยธรรมได้
ผมมีข้อสังเกตมานานว่า พลเอกเปรมมักจะพูดคำว่า “ตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน” “จงรักภักดีต่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” “ซื่อสัตย์สุจริต เสียสละ” แต่ไม่เคยได้ยินเขาพูดคำว่า “ประชาชน ประชาธิปไตย สิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ” เลย
ฉะนั้น หลายคนจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า “คนดี” ในความหมายของพลเอกเปรมไม่จำเป็นต้องมีความจงรักภักดี และซื่อสัตย์ต่อประชาชน ประชาธิปไตย เคารพและเสียสละปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ ใช่หรือไม่ ?
เพราะโดยหลักการแล้ว “ค่านิยม” (value) ของ “คนดี” กับค่านิยมของ “สังคมที่ดี” ต้องมีความสัมพันธ์เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน และถ้าสังคมที่ดีหมายถึงสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตย ค่านิยมในการเป็นสังคมที่ดีเช่นนี้ก็ต้องเป็น “ค่านิยมยึดถือความยุติธรรมในการอยู่ร่วมกันบนหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ” ฉะนั้น คนดีที่มีคุณสมบัติส่งเสริมสังคมที่ดีก็ต้องมี “ค่านิยมจงรักภักดี และซื่อสัตย์ต่อประชาชน ประชาธิปไตย เคารพและเสียสละปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ”
หมายความว่า “ความเป็นคนดีไม่อาจแยกขาดจากความเป็นสังคมที่ดี” หรือ “ความเป็นคนดีกับความเป็นสังคมที่ดีต่างสนับสนุนกันและกัน”
ความหมายที่ลึกซึ้งไปว่านั้นคือ “ความเป็นคนดี” ไม่อาจแยกออกจาก “ความเป็นมนุษย์ที่มีคุณค่ามีศักดิ์ศรีในตนเอง” ซึ่งคุณค่าหรือศักดิ์ศรีของมนุษย์นั้นอยู่ที่การใช้ “เหตุผลและเสรีภาพ” ในการเลือกสิ่งที่ดีแก่ตนเองและสังคมที่ตนเองสังกัด สังคมประชาธิปไตยคือสังคมที่สนับสนุนการใช้เหตุผลและเสรีภาพในความหมายดังกล่าว
ฉะนั้น สังคมประชาธิปไตยจึงเป็นสังคมที่ดีที่สนับสนุน “คนดีที่มีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตนเอง”
โดยนัยนี้สังคมประชาธิปไตยจึงเป็นสังคมที่ส่งเสริม “ความเป็นมนุษย์” คือ “ความมีเหตุผลและเสรีภาพ” เพราะเป็นสังคมที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้ใช้เหตุผลและเสรีภาพภายใต้หลักการสากลอันเดียวกัน คือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ซึ่งเป็นรากฐานของ “ความยุติธรรม” ในการที่ทุกคนจะได้ใช้เหตุผลและเสรีภาพของตนเองแสวงหาสิ่งที่ดี หรือการมีชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียม
คนดีในสังคมประชาธิปไตยจึงไม่ใช่ “มนุษย์เครื่องมือ” ของระบบความเชื่อ ลัทธิศักดิ์สิทธิ์ หรืออำนาจพิเศษใดๆ ที่นอกเหนือไปจากอำนาจของประชาชน
หมายความว่า คนดีต้องไม่ถูกใช้เป็น“เครื่องมือ” ค้ำจุนอำนาจอื่นที่นอกเหนือจากอำนาจของพวกเขาในนามของความสวามิภักดิ์ การรับใช้ ปกป้องอะไรก็ตามที่ “กดทับ” การใช้เหตุผลและเสรีภาพของพวกเขา
และเมื่อเขาใช้เหตุผลและเสรีภาพต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตย หรือหลักการสากลคือหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค เขาต้องไม่ถูกถูกสาปแช่ง ถูกจับติดคุกเป็น “นักโทษทางความคิด” หรือถูกฆ่า เพียงเพราะเขาคิดต่าง เชื่อต่าง และ/หรือยืนยันความเป็นเจ้าของสิทธิ อำนาจของตนเอง ซึ่งพูดอย่างถึงที่สุดก็คือการยืนยัน “ศักดิ์ศรีความเป็นคนของตนเอง” นั่นเอง
นี่คือความหมายของ “คนดี” และค่านิยมของคนดีที่สนับสนุนค่านิยมของสังคมที่ดี คือสังคมที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่พลเอกเปรมไม่เคยพูดถึงเลย
และคนดีที่ยึดมั่นใน“ค่านิยมจงรักภักดี และซื่อสัตย์ต่อประชาชน ประชาธิปไตย เคารพและเสียสละปกป้องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ” ย่อมไม่มีทางจะทำรัฐประหารล้มระบบสังคมที่ดีคือสังคมประชาธิปไตย และไม่มีทางสนับสนุนรัฐประหารทั้งโดยตรงและโดยอ้อมอย่างแน่นอน
ถึงเวลาแล้วที่สังคมเราจำเป็นต้องนิยามความหมายของ “คนดี” และ “ค่านิยม” ของคนดีเสียใหม่ให้ความหมายของ “คนดี” และ “ค่านิยม” ของคนดีสอดคล้องและส่งเสริมค่านิยมการยึด “ความยุติธรรม” ในการอยู่ร่วมกันบนหลักสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ภราดรภาพ อันเป็นหลักการพื้นฐานของสังคมที่ดี หรือสังคมประชาธิปไตยที่ปกป้องเราทุกคนให้เป็น “มนุษย์ที่มีคุณค่าและศักดิ์ศรีในตนเอง” อย่างแท้จริง !
ซึ่งหมายถึง เป็นมนุษย์ที่สามารถใช้ “เหตุผลและเสรีภาพ” แสวงหาการมีชีวิตที่ดีและสังคมที่ควรจะเป็น ไม่ใช่เป็นเพียง “มนุษย์เครื่องมือ” เท่านั้น !