มติชน 25 เมษายน 2555 >>>
ในการประชุมคณะคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (24 เม.ย.) ที่ห้องประชุมงบประมาณ อาคารรัฐสภา 3 พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ สืบเนื่องจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แถลงภายหลังการประชุม ครม. ว่า ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการให้ความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูผู้ได้รับผลเสียหายและได้รับผลกระทบจากความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งได้อนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2555 เป็นงบกลางเงินสำรองจ่าย สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2547 ถึงปัจจุบัน จำนวน 2,080 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการเยียวยาฯ นำเสนอ
พล.ต.อ.ประชา กล่าวว่า ก่อนนำเข้าเสนอครม. ได้ในการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 2/2555 เมื่อวันที่ 11 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบตามที่คณะกรรมการเยีวยาฯ เสนอ โดยระบุบุคคลที่เป็นผู้ได้รับความเสียหายและได้รับผลกระทบที่จะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาฟื้นฟูแบ่งเป็น 4 กลุ่ม และได้รับการอนุมัติจาก ครม. ประกอบด้วย
1. กลุ่มประชาชนทั่วไป ที่เสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งยังมีผู้ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเยีวยา หรือได้รับการช่วยเหลือเยียวยาไปแล้ว แต่ยังมีความทุกข์เดือดร้อนพึ่งพาตัวเองไม่ได้ หรือได้รับการเยียวยาไปแล้วแต่ยังไม่ได้มาตรฐานตามหลักสากล วงเงิน 500 ล้านบาท โดยข้อมูลจนถึงวันที่ 7 เมษายน 2555 พบว่า ผู้เสียชีวิตจำนวน 4,276 ราย ได้รับบาดเจ็บจำนวน 6,058 ราย รวมทั้งสิ้น 10,334 ราย ในจำนวนนี้มีผู้ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาไปแล้วเฉพาะที่เสียชีวิต 2,068 ราย ได้รับบาดเจ็บ 4,492 ราย นอกนั้นอีก 3,774 ราย ยังไม่ทราบสาเหตุของการเสียชีวิตและบาดเจ็บ จึงจำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้หลักฐานชัดเจนว่าสาเหตุใดจึงยังไม่ได้รับการเยียวยา
2. กลุ่มเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ วงเงิน 200 ล้านบาท มีผู้เสียชีวิตจำนวน 1,056 ราย บาดเจ็บ 3,392 ราย ได้รับการเยียวยาไปแล้วเฉพาะที่เสียชีวิตจำนวน 848 ราย รับบาดเจ็บ 3,224 ราย แต่อีก 376 ราย ยังไม่ทราบสาเหตุของการเสียชีวิตและบาดเจ็บ จำเป็นต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อให้ได้หลักฐานชัดเจนว่าสาเหตุใดจึงยังไม่ได้รับการเยียวยา
3. กลุ่มผู้ที่ถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่ของรัฐในเหตุความไม่สงบ (เฉพาะกรณี) วงเงิน 1,000 ล้านบาท ได้แก่
1. กรณีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2547 ซึ่งเกิดขึ้นที่มัสยิดกรือเซะ อ.เมืองปัตตานี อ.แม่ลาน จังหวัดปัตตานี อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา อ.เมือง จ.ยะลา และอ.กรงปินัง จ.ยะลา มีผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 111 ราย บาดเจ็บ 28 ราย
2. กรณีเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 มีผู้เสียชีวิต 85 ราย บาดเจ็บ 46 ราย ถูกดำเนินคดีและได้มีการถอนฟ้องคดี 58 ราย และถูกควบคุมตัวโดยไม่ถูกดำเนินคดี 1,176 ราย
4. กรณีถูกควบคุมตัว ถูกคุมขัง ถูกดำเนินคดีเป็นผู้ต้องหา หรือเป็นจำเลย แต่ต่อมาปรากฎหลักฐานว่าผู้นั้นไม่เป็นผู้กระทำผิด มีการถอนฟ้องหรือพิพากษายกฟ้อง คณะกรรมการเยียวยาฯ เห็นว่าต้องได้รับการเยีวยาทางด้านจิตใจ เพื่อความเป็นธรรม วงเงิน 300 ล้านบาท
ทั้งนี้ หากรวม 4 กลุ่ม วงเงินรวมทั้งสิ้น 2,000 ล้านบาท ส่วนอีก 80 ล้านบาท เป็นงบด้านดำเนินการของคณะกรรมการเยียวยาฯ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง พิสูจน์ทราบและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนความต้องการของผู้เสียหายเป็นรายบุคคล และรายครัวเรือน
นอกจากนี้ พล.ต.อ.ประชา ยังกล่าวว่า สำหรับการจะกำหนดตัวเลขโดยตรงนั้น ยังไม่สามารถทำได้เนื่องจากผลกระทบความรุนแรง ความหนักเบาไม่เหมือนกัน เช่น กลุ่มที่ 1 หรือกลุ่มประชาชนทั่วไป ผลกระทบจะต้องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะฉะนั้น การจะเข้าใจได้ว่าประชาชนทั้งหมดที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เมื่อได้รับผลกระทบจะได้รับการเยียวยาทั้งหมดนั้น อาจจะไม่ถูกต้อง เช่น กรณีวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่เกิดขึ้นที่ 3 แยกบ้านเมียง เป็นลักษณะที่ประชาชนได้เข้าโจมตีหน่วยงานของรัฐ กรณีนี้การได้รับเยีวยาคงเป็นไปไม่ได้
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์มติครม. และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคณะกรรมการเยีวยาฯ มีมติร่วมกันแต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 8 คณะ เพื่อกำหนดตัวเลขเงินเยียวยาโดยละเอียดอีกครั้ง ประกอบด้วย
1. คณะอนุกรรมการกำหนดยุทธศาสตร์และประเมินผลการเยียวยา
2. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยีวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
3. คณะอนกรรมการช่วยเหลือเยียวยาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ได้รับผลกระทบ
4. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทบของเจ้าหน้าที่ของรัฐในเหตุการณ์ 28 เมษายน 2547 เหตุการณ์ตากใบวันที่ 25 ตุลาคม 2547 และการเสียชีวิตหรือทุพลภาพจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอื่น
5. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยีวยาผู้ได้รับผลกระทบกรณีถูกบังคับให้สูญหาย
6. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยีวยาผู้ได้รับผลกระทบเหตุการณ์เฉพาะกรณี
7. คณะอนุกรรมการช่วยเหลือเยียวยากรณีถูกจับกุม ควบคุมหรือคุมขังหรือถูกดำเนินคดีโดยไม่มีความผิดและ
8. คณะอนุกรรมการสื่อสารสร้างความเข้าใจทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่จะได้รับการเยียวยานั้น เพดานการเยีวยาสูงสุดไม่เกิน 7.5 ล้านบาท เท่าเทียมกับการชุมนุมทางการเมืองที่ทางปคอป. เป็นผู้ดำเนินการเยียวยา โดยอิงหลักเกณฑ์การจ่ายเงินยียวยาจากทุกหน่วยงาน รวมทั้งเกณฑ์เดียวกับปคอป. ซึ่งคาดว่าภายใน 2 สัปดาห์ จะเริ่มดำเนินการจ่ายเงินได้ เบื้องต้น กรณีเสียชีวิตและทุพลภาพ จะได้รับความช่วยเหลือเยียวยาเป็นเงิน 5 แสนบาท และหากคณะกรรมการเยียวยาฯ เห็นสมควรว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือเหตุการณ์เฉพาะกรณีที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน จะมีมติอนุมัติให้การช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติมได้อีก แต่ไม่เกินจำนวนเงิน 7 ล้านบาท
โดยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินใช้ระเบียบ กพต. ว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายและผู้ได้รับผลกระทบจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐอันสืบเนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ พ.ศ. 2555 ข้อ 7 เรื่องกำหนดค่าใช้จ่ายในการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหายและผู้ที่ได้รับผลกระทบ
ส่วนวิธีการจ่ายเงิน กพต. จะกำหนดรายละเอียดเงินจ่ายเยียวยาอีกครั้ง ซึ่งคณะกรรมการจะประกอบด้วย ตัวแทนผู้นำศาสนา คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ผู้แทนผู้เสียหาย เป็นต้น และกำหนดวิธีการจ่ายเงินเพื่อไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมุสลิมที่มีอัตลักษณ์เฉพาะ
ดังนั้นเพื่อไม่ให้ขัดกับหลักศาสนาอิสลาม เบื้องต้น อาจให้ทางธนาคารอิสลามเข้ามาจัดสรรในเรื่องการจ่ายเงินเยียวยา หรืออาจเรียกว่า เป็นเงินการลงทุน แทนการเยียวยา โดยจำนวนผู้เสียชีวิต 5,000 ราย คาดว่าจะเพียงพอกับวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจาก ครม. ครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ได้มีการเยียวยาไปบ้างแล้ว ควบคู่กับการเอาผิดหากพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ พร้อมดำเนินการทางวินัยควบคู่กันไป