สภาปรองดอง-ปรองเดือด ?

ข่าวสด 30 มีนาคม 2555 >>>


เส้นทางปรองดองในสภากลายเป็นเวทีประสานงากันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน
แค่วันประชุมรัฐสภาเพื่อขอมติให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารายงานของกรรมาธิการปรองดอง บรรยากาศก็เดือดไปทั้งฟลอร์
นอกจากสารพัดคิวป่วน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ยังฮือล้อมกรอบอดีตประธาน คมช. พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ปัจจุบันหันมาสวมบทพระเอกปรองดอง โดยมีกลุ่มผู้แทนพรรคเพื่อไทยคอยเป็นเกราะให้กำลังใจ
จุดเริ่มต้นยังไม่ทันได้ออกสตาร์ตก็วุ่นวายขัดแย้งกันขนาดนี้ เส้นทางต่อไปจะเป็นอย่างไร สุดท้ายปลายทางจะเกิดความปรองดองได้จริงหรือไม่
ผู้ติดตามการเมืองแสดงความเห็นไว้ดังต่อไปนี้

สุริชัย หวันแก้ว
ผอ.สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ


การใช้สภาเป็นเวทีหาข้อยุติความขัดแย้งให้กับบ้านเมือง หากใช้แค่เสียงข้างมากตัดสินโดยไม่คำนึงถึงภาพรวม คำว่าปรองดองจะเป็นเพียงเครื่องมือตัดสินแพ้ชนะทางการเมืองเท่านั้น
ทุกคนที่ทำหน้าที่อยู่ในสภาล้วนเป็นผู้ใหญ่ แต่กลับกระทำเหมือนคนที่ไม่มีวุฒิภาวะ สร้างความตึงเครียดให้เกิดขึ้น หมิ่นเหม่ที่จะถูกนำมาสร้างให้เกิดความรุนแรงภายนอก
ทางแก้คือฝ่ายการเมืองที่เห็นต่างต้องหันหน้าเข้าหากัน พูดคุยให้เกิดความเข้าใจก่อนว่า ต้องการความปรองดองจริงหรือไม่ ตัดเรื่องผลประโยชน์หรือการแพ้ชนะออก
รวมถึงต้องถามตัวเองด้วยว่า การเร่งพิจารณาแนวทางปรองดองเพียงเพื่อสร้างผลงาน หรือต้องการทำความเข้าใจซึ่งกันและกันจริงๆ
สิ่งที่ต้องทำคือการสร้างความมั่นใจร่วมกันอย่างรอบคอบ เพราะการไม่รู้เนื้อหาของคำว่าปรองดองอย่างแท้จริงอาจกลายเป็นข้ออ้างในการต่อสู้รอบใหม่ อย่างไรก็ตามการเดินหน้าปรองดองเป็นเรื่องดี แต่ถ้าแค่ออกมาเป็นมติ แต่พฤติกรรมไม่ไปไหน ความปรองดองคงไม่เกิดขึ้น
ผมไม่มองว่าบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อาจเป็นเพียงบางส่วน เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกนำมาอ้างทุกเรื่อง ซึ่งก็ไม่เป็นธรรมกับท่าน
แต่ พ.ต.ท.ทักษิณ เองก็มักพูดในสิ่งที่ไม่ควรพูด จนถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา อยากให้ใจเย็น แสดงความเป็นผู้ใหญ่ให้มากกว่านี้ จะช่วยสร้างความปรองดองได้อีกทาง

ดิเรก ถึงฝั่ง
ส.ว.นนทบุรี ประธานกรรมการสมานฉันท์ฯ


แนวทางปรองดองที่กรรมการชุดของผมเคยทำ ระบุชัดว่าฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันต้องพูดคุยกันอย่างเปิดอก คิดแต่เข้าข้างตัวเองหรือพวกเดียวกันไม่ได้เพราะทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ส่งผลให้ประเทศไม่มีทางออก
ที่สุดแล้วไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ทางแก้ที่สำคัญที่สุดคือ ยึดบ้านเมืองเป็นที่ตั้ง
ปัญหาความขัดแย้งเกิดจากการ เมือง 2 ฝ่าย ต้องเริ่มจากนายกฯ เชิญฝ่ายค้านมาคุยกันว่าจะแก้ปัญหาให้บ้านเมืองอย่างไร ต้องถอยกันคนละก้าวเพื่อเจรจากัน ไม่นำบุคคลใดบุคคลหนึ่งมาเป็นที่ตั้งของปัญหา
ส่วนผลการวิจัยของสถาบันพระปกเกล้าไม่ใช่เรื่องที่เขาคิดหรือเขียนขึ้นมาเอง แต่มาจากการถามความเห็นประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่าจะออกมาเป็นงานวิจัย จึงควรนำมาพิจารณาเป็นบทเรียนหนึ่งด้วย
แม้งานวิจัยจะไม่ช่วยให้เกิดความปรองดองได้ แต่อย่างน้อยก็ควรนำมาพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะถือว่าเข้ามาอยู่ตามกระบวนการทางสภาแล้ว
ขณะที่กฎหมายหรือกลไกอื่นๆ ที่บางคนเสนอเพื่อช่วยให้เกิดความปรองดอง ใครก็คิดหรือเขียนขึ้นมาได้ แต่ความปรองดองจะไม่เกิดขึ้นเลย หากฝ่ายการเมือง 2 ฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้ง ไม่เริ่มต้นพูดคุยกันอย่างจริงใจ
ผมเชื่อมาตลอดว่าหากมีการเจรจากันภายในก่อนจนความปรองดองเกิดขึ้น ประชาชนภายนอกก็จะมีความสมานฉันท์กัน ขณะนี้โจทย์สำคัญไม่ใช่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือแม้แต่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ทุกอย่างได้ล่วงเลยมาแล้ว
วันนี้ทุกคนต้องรู้จักการให้อภัยเพื่อนำไปสู่การพูดคุย แล้วในที่สุดความปรองดองก็จะเกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน
ผมไม่เห็นด้วยกับฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ออกมาบอกว่าตัวเองรักประเทศ ทำเพื่อประเทศ แต่การกระทำที่ยึดตัวเองเป็นใหญ่สะท้อนให้เห็นว่าแต่ละฝ่ายรักบ้านเมืองจริงอย่างที่พูดหรือไม่
หากฝ่ายการเมืองที่มีความขัดแย้งยังไม่ยอมพูดคุยกัน นอกจากความปรองดองจะไม่เกิด ผมยังหวั่นว่าจะเกิดความรุนแรงขึ้นในประเทศอีกครั้ง

จาตุรนต์ ฉายแสง
อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย


ข้อเสนอของกรรมาธิการปรอง ดองไม่ได้สรุปผลไปในทางใดทางหนึ่ง ที่พูดกันว่าเป็นรายงานเถื่อนจึงไม่ใช่ การประชุมสภาวันที่ 4 เม.ย. ส.ส. จึงแสดงความเห็นกันได้เต็มที่
สภาจะมีมติเป็นอย่างใดก็เป็นอีกเรื่อง หากเสียงส่วนใหญ่มีมติที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย ก็จะเกิดการตีรวนขึ้นอีก จึงขึ้นอยู่กับเสียงข้างมากจะเห็นอย่างไร โดยจะต้องเป็นที่ยอมรับหรือให้การปรองดองเดินหน้าต่อไปได้
ข้อสรุปของสถาบันพระปกเกล้าเรื่องการนิรโทษกรรม ล้างผลการสอบของ คตส.นั้น หากเสียงส่วนใหญ่มีมติจะนิรโทษกรรมทั้งกลุ่มเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง ไม่ได้หมายความว่าความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ เสียงส่วนใหญ่ต้องชั่งน้ำหนัก
ที่สำคัญคือการอภิปรายในสภาต้องสื่อสารให้สังคมเห็นถึงความจำเป็นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรม รวมถึงความจำเป็นที่บ้านเมืองต้องเดินไปข้างหน้า ซึ่งทุกฝ่ายต้องร่วมกันผลักดัน
จุดใหญ่ๆ ที่ทำให้ความปรองดองยังไม่เกิด เพราะฝ่ายที่ขัดแย้งยังไม่เห็นความสำคัญของการปรองดอง มองปัญหาไม่ตรงกัน และเปิดใจไม่กว้างพอ
ขณะที่สังคมเองก็ไม่สนใจเรื่องนี้มากนัก ขาดองค์ความรู้และประสบ การณ์ในการแก้ปัญหา จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการทำความเข้าใจให้เกิดขึ้นมากพอสมควร
แต่ถ้าจะให้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกินเวลานานหลายปีคงไม่ไหว กว่าจะได้ข้อสรุป อาจเกิดความรุนแรงอีกหลายเรื่องตามมา รวมทั้งเกิดปัญหาให้ต้องแก้อีกมากมาย
พล.อ.สนธิ เป็นประธานกรรมาธิการปรองดองก็มีจุดอ่อนในตัว เพราะเคยเป็นประธาน คมช. ที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย แต่ก็มีผลทางบวก ทำให้เห็นว่าคนที่เคยสร้างปัญหาก็ออกมาช่วยแก้ปัญหา

โคทม อารียา
ผอ.ศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล

ต้องแยกให้ชัดเจนว่าใครจะปรองดองกับใคร ถ้าคนที่จะปรองดองกันยังมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อกัน หรือมีการรับฟังกันไม่มากพอ และคนที่เกี่ยวข้องยังไม่พร้อม การปรองดองก็ควรชะลอไปก่อน
การเร่งรัดให้คนที่ไม่พร้อมมาเข้าใจกัน มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ควรให้เวลากันมากกว่านี้
ปัญหาที่ทำให้การปรองดองติดขัด เกิดจากความเห็นที่ไม่ตรงกัน รัฐบาลก็อยากพิจารณารายงานของกรรมาธิการปรองดอง ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ก็คิดว่ารายงานดังกล่าวเปิดทางไปสู่กฎหมายนิรโทษกรรม ล้มล้างคดี คตส.
การปรองดองดังกล่าวอาจทำให้คนจำนวนหนึ่งสงสัยว่า กระบวนการที่พูดถึงเป็นไปเพื่อใคร แต่คิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ เพราะหลังการปฏิวัติได้ออกนอกประเทศ ไปแล้ว
กระบวนการนิรโทษกรรมน่าจะเป็นความผิดเกี่ยวกับการปฏิวัติมากกว่า เพราะเป็นข้อกล่าวหาทางการเมือง แต่หลังปฏิวัติก็ยังไม่มีใครตั้งข้อกล่าวหาทางการเมืองให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ
ส่วนที่เกี่ยวข้องน่าจะเป็นการล้มล้างคดีของ คตส. ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้ประโยชน์จากข้อเสนอนี้แน่นอน
การเป็นประธาน กมธ. ของ พล.อ.สนธิ ไม่น่าจะมีผลต่อการปรองดอง พล.อ.สนธิ ไม่ได้ตั้งตัวเอง แต่มีการเสนอญัตติผ่านสภา ขั้นตอนทุกอย่างเป็นไปตามกลไกของสภา
สิ่งที่จะเน้นเกี่ยวกับการปรองดอง คือควรจัดเสวนาให้มีการพูดคุยกันโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน ทั้งระดับผู้นำรัฐบาล ฝ่ายค้าน ฝ่ายนิติบัญญัติ ตามข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า
แต่ควรพิจารณารายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่คัดค้านการนิรโทษกรรมและการล้มคดีของคตส.ประกอบกันด้วย
โดยเฉพาะการลบล้างคดีของ คตส. ควรอภิปรายให้ประชาชนเข้าใจด้วยว่าทำเพื่ออะไร