มติชน 13 มกราคม 2555 >>>
19 กันยายน 2553 หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 โดย “คณะกรรมการปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”
4 ปีถัดมา อาจารย์ กลุ่มเล็กๆที่ประกอบอาชีพสอนวิชากฎหมาย ในคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รวมตัวกันขึ้นในนามของ “นิติราษฎร์” นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
กลุ่มผู้ก่อตั้ง 7 คนประกอบด้วย วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ,จันทจิรา เอี่ยมมยุรา , ฐาปนันท์ นิพิฏฐกุล , ธีระ สุธีวรางกูร , ปูนเทพ ศิรินุพงศ์, ปิยบุตร แสงกนกกุล และ สาวตรี สุขศรี
“นิติราษฎร์” แถลงการณ์ให้สังคมไทยรู้ว่า ภายหลังรัฐประหารสำเร็จ ประเทศไทยตกอยู่ภายใต้สถานการณ์ที่กฎหมายถูกนำไปใช้อย่างบิดเบี้ยว ทั้งการตราตัวบทกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับนิติรัฐ-ประชาธิปไตย ทั้งการใช้และการตีความกฎหมายขององค์กรผู้มีอำนาจไปในทิศทางที่ไม่สนับสนุนนิติรัฐ-ประชาธิปไตย และก่อให้เกิดความไม่ยุติธรรม ซึ่งเราได้แสดงความเห็นผ่านแถลงการณ์สาธารณะวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ
เวทีความคิดของ นิติราษฎร์ สื่อสารความคิด ผ่านแถลงการณ์ ในเว็ปไซต์ www.enlightened-jurists.com/about บทสัมภาษณ์ของแกนนำ นิติราษฎร์ หลายคน แต่ที่แหลมคมที่สุดคือ บทสัมภาษณ์ของ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ผ่านสื่อออนไลน์และผ่านทีวีไทย
แถลงการณ์ของนิติราษฎร์ ส่วนใหญ่ มุ่งวิพากษ์วิจารณ์ผลพวงของการรัฐประหาร และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีการเมืองหลายคดี อย่างหนักหน่วงและรุนแรง
ล่าสุด นอกจากข้อเสนอให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แล้ว นิติราษฎร์ ยังจุดไฟกลางสายลม ในข้อเสนอให้เแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
กิจกรรมทางวิชาการครั้งใหญ่ของ นิติราษฎร์ ต้นปี 25555 กำหนดขึ้น 2 วันคือ
วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2555 การรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อม เปิดตัว คณะรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติม ม. 112 (ครก. 112 ) เพื่อรวบรวมรายชื่อบุคคล เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ และกิจกรรมทางวิชาการ และกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ
วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2555 เนื่องในโอกาสครบรอบ 100 ปี คณะ ร.ศ. 130 และโอกาสเข้าสู่ปีที่ 80 ของการอภิวัตน์ 24 มิถุนายน 2475 เพื่อให้ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย” คณะนิติราษฎร์ จัดเสวนาทางวิชาการขับเคลื่อนข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ในหัวข้ออภิปราย เรื่อง “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง”
แต่ก่อนที่ นิติราษฎร์ จะเคลื่อนขบวนครั้งใหญ่ อาทิตย์ที่ 15 มกราคม 2555
วันศุกร์ที่ 13 มกราคม 2555 อาจารย์บรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ก็เปิดตัว กลุ่ม “สยามประชาภิวัฒน์” โดยใช้ อาคารนราธิปพงศ์ ประพันธ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นที่เปิดตัว
กล่าวกันว่า ถ้าวรเจตน์ นิติราษฎร์ ถูกมองว่าเป็นแดง บรรเจิด สิงคะเนติ ก็ถูกมองว่า เป็นเหลือง
หลัง 19 ก.ย. 2549 วรเจตน์และพวก คือ ทัพหน้าที่เคลื่อนขบวนลบล้างผลพวงการรัฐประหาร แต่ "บรรเจิด" ถูก "สุรพล นิติไกรพจน์"อธิการบดี ธรรมศาสตร์ และพวก ทาบทามให้ไปนั่งเป็น กรรมการตรวจสอบทรัพย์สิน (คตส.) ตามประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทัศนะทางวิชาการของ วรเจตน์ ดอกเตอร์จากฝรั่งเศส และ บรรเจิด ดอกเตอร์จากเยอรมัน จึงอยู่กันคนละขั้ว
วรเจตน์ เคยถูกป้ายสีว่า รับใช้ทักษิณ และถูกปล่อยข่าวว่า ทักษิณ จะยกลูกสาวให้เป็นรางวัล
ส่วนบรรเจิดคือ มือไล่ล่าระบอบทักษิณ เป้าหมายคือ เอาทักษิณมาลงโทษข้อหาทุจริตเชิงนโยบาย
ก่อนบรรเจิด ไปเปิดคณะนิติศาสตร์ที่นิด้า ตามเทียบเชิญของ สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีนิด้า อาจารย์บรรเจิดกับอาจารย์วรเจตน์เดินสวนกันไปมาบนชั้น 4 ท่าพระจันทร์ ห้องพักอาจารย์ก็อยู่คนละมุม อยู่กันคนละก๊วน ถ้าไม่จำเป็นก็ไม่คุยกัน เพราะคุยกันคนละภาษา
เอาเข้าจริง ปีกของ อาจารย์บรรเจิด มีอาจารย์ถือหางมากกว่า ปีกของ วรเจตน์ ที่มีพวกแค่ 6-7 คน
ชั่วโมงเลกเชอร์ของ วรเจตน์ กับ บรรเจิด ก็แตกต่างกัน ทั้งๆ ที่พูดเรื่องหลักนิติธรรมเหมือนกัน
หลังรัฐประหาร อาจารย์บรรเจิด ได้รับเชิญเป็นกรรมการต่างๆ มากมายในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์ ขณะที่ วรเจตน์ ยืนยันว่าขอสอนหนังสือ ยังไม่คิดเล่นการเมือง
เมื่อวรเจตน์และพวกมีนิติราษฎร์ บรรเจิดและพวกก็ต้องเปิดเวที “สยามประชาภิวัฒน์” เป็นคู่ขนาน
เมื่อวรเจตน์และนิติราษฎร์ อยากจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ อยากแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็ต้องเจอ บรรเจิดและ“สยามประชาภิวัฒน์”ที่มองต่างมุม
ถ้ามองให้เป็นคุณ นี่คือ การปะทะสังสรรค์ทางวิชาการที่สุดยอดที่สุด
สังคมไทยจะหูตาสว่างรับทัศนะทางวิชาการ 2 ด้านก็ครั้งนี้นี่เอง !!!