รัฐธรรมนูญใหม่จะเกี่ยวกับความปรองดองโดยตรงทีเดียว
ปรองดองตามความเป็นจริงในโลกนี้ ไม่ได้หมายถึงปราศจากความขัดแย้ง เพราะเป็นไปไม่ได้ในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ที่จะไม่มีความขัดแย้งเสียเลย แท้จริงแล้วระบอบประชาธิปไตยมีขึ้นก็เพื่อให้ความขัดแย้งในสังคมลอยตัวขึ้นอย่างอิสระ โดยไม่ถูกขวางกั้นจากกำเนิด, สถานะ, หรือช่วงชั้นแห่งอำนาจและเกียรติยศ เพียงแต่ว่าต้องขัดแย้งกันภายใต้กติกาที่เป็นธรรม และอย่างเท่าเทียมกัน ฉะนั้น กติกาซึ่งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุด อันจะนำไปสู่ความปรองดอง
รัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้ในปัจจุบัน เป็นกติกาซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของหลายฝ่าย จึงเป็นกติกาที่ขัดขวางความปรองดองตัวจริงทีเดียว หากไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ยากที่จะนำสังคมไปสู่ความปรองดองที่แท้จริงได้
มิติหนึ่งของความขัดแย้งในสังคมไทยที่ผ่านมา คือความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำสองกลุ่ม หรือมากกว่านั้น การผลัดกันเกาหลังของชนชั้นนำ อันเป็นวิธีระงับความขัดแย้งที่เคยได้ผลในการเมืองไทยตลอดมา ไม่อาจนำไปสู่ความปรองดองได้อย่างแน่นอน เพราะในความขัดแย้งของสังคมที่เราเผชิญอยู่ มีมิติอื่นๆ นอกเหนือไปจากความขัดแย้งแก่งแย่งอำนาจและผลประโยชน์ในหมู่ชนชั้นนำอีกมากนัก
การแก้ไขความขัดแย้งด้วยวิธีอันธพาล คือล้มกระดาน ก็ไม่อาจทำให้ความขัดแย้งผ่อนคลายลงได้ ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ จะทำให้ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงขึ้นถึงต้องนองเลือดกันอีก
ดังนั้น หากต้องการความปรองดองจริง วิธีเดียวคือสร้างกติกาซึ่งเป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่ายขึ้นใหม่ โดยพยายามตัดวงจรของการล้มกระดานหรือการรัฐประหารให้แน่นหนาที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย (ซึ่งจะกล่าวถึงข้างหน้า)
ความเห็นของบางฝ่ายที่ว่า ก่อนจะตัดสินใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ จำเป็นต้องลงประชามติกันก่อนว่า ควรแก้ไขหรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับที่ใช้อยู่ได้ผ่านการลงประชามติมาแล้ว นับเป็นความเห็นที่หาตรรกะไม่ได้เอาเลย
การลงประชามติ คือเปิดให้ตัดสินใจเลือกอย่างชัดเจนว่า หากไม่เอาสิ่งนี้ จะได้สิ่งใด ลงประชามติเพื่อให้แก้หรือไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่สามารถให้ทางเลือกที่ชัดเจนได้ว่า หากให้แก้รัฐธรรมนูญ จะแก้กันอย่างไร และแก้แล้วจะออกมาเป็นอย่างไร ไม่ต่างจากการลงประชามติครั้งที่แล้ว คือหากไม่รับ รธน. 2550 จะได้รัฐธรรมนูญอะไรก็ไม่ทราบ แล้วแต่หมู่เทวดาจะเลือกให้มาตามใจชอบ นั่นไม่ใช่การลงประชามติ เช่นเดียวกับครั้งนี้ คือให้เลือกระหว่าง รธน. 2550 กับอะไรก็ไม่รู้เหมือนกัน
ถึงอย่างไรก็เป็นที่เข้าใจอยู่แล้วว่า รัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ว่าจะผ่านกระบวนการร่างมาอย่างไร ก็ต้องนำมาผ่านประชามติ ถึงตอนนั้น ก็จะรู้ได้อย่างแน่ชัดว่า หากไม่เอา รธน. 50 จะได้รัฐธรรมนูญอะไร มีทางเลือกที่ชัดเจนซึ่งประชาชนสามารถตัดสินใจได้ โดยผ่านการถกเถียงอภิปราย และให้ข้อมูลของทั้งสองฝ่ายตามกระบวนการลงประชามติ
ในด้านกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พรรค พท.ซึ่งกุมเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภาได้มีมติแล้วว่า จะใช้วิธีแก้ไข ม.291 เพื่อให้เกิด ส.ส.ร. ที่มาจากประชาชน นับเป็นกระบวนการที่ประชาชนส่วนใหญ่น่าจะรับได้ ในส่วนวิธีการเลือกตั้ง จะใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง หรือใช้จำนวนประชากร เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันได้
ปัญหามาอยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญ 22 คน มากกว่า ว่าใครจะเป็นคนเลือก
หากให้รัฐสภาเลือกก็เท่ากับให้นักการเมืองเข้ามาแทรกในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ฉะนั้น จึงน่าจะทำบัญชีขึ้นจากข้อเสนอขององค์กรต่างๆ (ส่วนจะเป็นองค์กรประเภทใดบ้างนั้น คงต้องคิดกันในรายละเอียด) ได้มาสัก 100-200 รายชื่อ แล้วส่งให้ ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้ง เลือกสรรเอาเองจากบัญชีนั้นให้ครบ 22 คน
หลักการสำคัญซึ่งใช้ในการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 น่าจะเป็นหลักการที่ควรยึดถือต่อไป นั่นก็คือนักการเมืองไม่ควรเข้ามาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญมากไปกว่าประชาชนธรรมดาทั่วไป แท้ที่จริงนักการเมืองในฐานะประชาชนธรรมดา ก็มีพลังในการแทรกแซงได้มากกว่าคนทั่วไปอยู่แล้ว เพราะมีฐานเสียงของตนเองเป็นกอบเป็นกำกว่าคนทั่วไปจะพึงมีได้ (ซ้ำยังมีพื้นที่ในสื่อมากกว่าอีกด้วย)
อีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญ อันเป็นเรื่องที่ ส.ส.ร. ต้องตัดสินใจในภายหน้า แต่เป็นเรื่องที่นักการเมืองพูดถึงอยู่บ่อยๆ ในตอนนี้ เช่นเรื่องควรมีหรือไม่มีมาตรานั้นมาตรานี้ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 (เช่นการอภัยโทษ) หรือ ส.ว. ควรมาจากการแต่งตั้งหรือไม่ เป็นต้น
รัฐธรรมนูญฉบับที่ควรใช้เป็นฐานในการแก้ไขนั้น ถึงอย่างไรก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ 2550 อยู่แล้ว มีผู้เสนอว่าควรใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 แต่ รธน. "ฉบับประชาชน" ฉบับนี้ ที่จริงแล้วเป็นผลมาจากการเดินตามรัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากการรัฐประหารหลายฉบับ (แม้มีส่วนที่เพิ่มเติมเข้าไปใหม่อยู่ไม่น้อยเหมือนกัน) ประหนึ่งว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยไทย เริ่มมาแต่การรัฐประหาร 2490 เท่านั้น
ฉะนั้น จึงปล่อยบางคำ, บางมาตรา หรือแม้แต่บางหมวดไปโดยไม่ได้พิจารณากันอย่างละเอียดเพียงพอ
หลักการสำคัญที่กลุ่มนิติราษฎร์เสนอไว้ก็คือ ควรร่างรัฐธรรมนูญใหม่จากฐานของรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหาร จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในทรรศนะของผู้เขียนเห็นว่า เมื่ออาศัยหลักการนี้รัฐธรรมนูญที่เข้าข่ายมีอยู่เพียง 4 ฉบับ คือรัฐธรรมนูญ วันที่ 27 มิ.ย. 2475 (ซึ่งถูก ร.7 ต่อท้ายคำว่าฉบับชั่วคราวลงไปเอง) รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะวางหลักการที่ปฏิเสธไม่ได้ของการเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย การจัดวางอำนาจในโครงสร้างของระบอบปกครองของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นรากฐานสำคัญของการที่จะไม่หวนคืนกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อีก ไม่ว่าจะเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์จริง หรืออำพรางก็ตาม
รัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่ง คือวันที่ 10 ธ.ค. 2475 เพราะไม่ได้มาจากการรัฐประหารเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยังมีปัญหากับ รธน.ฉบับนี้ที่ถกเถียงกันได้ เพราะที่จริงร่างขึ้นด้วยเป้าหมายทางการเมืองเฉพาะหน้า คือความพยายามของคณะราษฎรที่จะประนีประนอมกับกลุ่มระบอบเก่า โดยไม่ให้เสียหลักการของระบอบประชาธิปไตยจนเกินไปเท่านั้น (และเพราะไม่ให้เสียหลักการ จึงทำให้ฝ่ายระบอบเก่าผิดหวังในเวลาต่อมา เพราะไม่ได้อำนาจการกำกับควบคุมสภาอย่างที่ต้องการ เช่นการมี ส.ส.ประเภทสอง - ซึ่งที่จริงเป็นข้อเสนอของพระมหากษัตริย์ในระยะนั้นเอง - กลายเป็นข้อที่ถูกโจมตีว่า คณะราษฎรหวงอำนาจ) อย่างไรก็ตาม เป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้สืบเนื่องกันเป็นเวลานาน ส.ส.ร.อาจได้เรียนรู้หนทางของการประนีประนอมกับระบอบเก่าที่ไม่เสียหลักการได้จากการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้
รัฐธรรมนูญอีกฉบับหนึ่งคือฉบับ พ.ศ. 2489 ซึ่งไม่ได้เกิดจากการรัฐประหารเช่นกัน ถือกันว่าเป็นรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย (อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข) ที่ดีที่สุดของไทยเท่าที่มีมา
และแน่นอนฉบับสุดท้าย คือรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540
การเลือกรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้มาจากการรัฐประหารนั้น จุดมุ่งหมายไม่แต่เพียงการแก้ไขเพื่อนำไปสู่เงื่อนไขที่ระบอบประชาธิปไตยอาจงอกงามขึ้นอย่างยั่งยืนในประเทศไทย แต่จำเป็นต้องตัดวงจรการรัฐประหารในประเทศให้เด็ดขาด แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญอย่างเดียวคงทำไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญช่วยวางเงื่อนไขบางอย่างที่จะทำให้อำนาจนอกระบบทั้งหลาย ต้องหันมารักษาอำนาจและผลประโยชน์ของตนในระบบ แทนที่จะอาศัยการรัฐประหารเป็นคำตอบสุดท้ายเสมอไป
เรามักเข้าใจว่า การรัฐประหารเป็นการกระทำของกองทัพฝ่ายเดียว แท้จริงแล้ว การรัฐประหารเป็นผลมาจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สลับซับซ้อน ในบรรดากลุ่มชนชั้นนำของสังคม ฉะนั้น หากรัฐธรรมนูญจำนงที่จะป้องกันการรัฐประหาร จึงต้องทำมากกว่าเขียนกันไว้ในไม่กี่มาตรา แต่ต้องคลายการเกาะเกี่ยวกันของอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยลง แล้วสถาปนาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เอื้อต่อประชาธิปไตยขึ้นใหม่
แน่นอนว่าการบัญญัติกฎหมายอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะป้องกันการรัฐประหารได้ 100% แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ขาดไม่ได้
ประเด็นสุดท้าย คือการเตรียมการสำหรับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน งบประมาณที่จะสนับสนุน ส.ส.ร. นั้น ควรกันออกมาก้อนใหญ่ โดยระบุให้ชัดเจนว่า เพื่อการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยตรง (หาก ส.ส.ร. ไม่ได้ใช้เพื่อการนี้ ก็ไม่ได้ใช้) รัฐควรเตรียมที่จะใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในมือ เช่น โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ และสถานีโทรทัศน์ในสังกัดของรัฐ เพื่อขยายเวทีการอภิปรายประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้กว้างขวาง รัฐอาจใช้เงินเพื่อวางแผนในเชิงธุรกิจ เพื่อให้เกิดการอภิปรายถกเถียงกันในสังคมอย่างกว้างขวาง ถึงประเด็นต่างๆ ที่ ส.ส.ร. กำลังพิจารณา
ลืมข้อเสนอของคุณอุกฤษฎ์ มงคลนาวิน ไปได้เลย เราจะมีรัฐธรรมนูญของปุถุชน คือกติกาของความสัมพันธ์ระหว่างคนธรรมดาๆ ที่มีดีมีชั่วแม้ในคนๆ เดียวกัน ไม่ใช่รัฐธรรมนูญของพระอรหันต์ (ซึ่งที่จริงก็ไม่จำเป็นต้องมีรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว)
การมีส่วนร่วมของประชาชนไม่ได้อยู่ที่ประชามติในขั้นสุดท้ายเพียงอย่างเดียว แต่อยู่ที่โอกาสและพื้นที่สำหรับการมีส่วนร่วมมาตลอดกระบวนการด้วย