ราคาชีวิตผู้เสียหายจากความรุนแรงโดยรัฐสองมาตรฐานจริงหรือ ?

กรุงเทพธุรกิจ 22 มกราคม 2555 >>>


ราชดำเนินเสวนา “ราคาชีวิต...ผู้เสียหาย จากความรุนแรง โดยรัฐสองมาตรฐานจริงหรือ ?”

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมราชดำเนินเสวนา “ราคาชีวิต...ผู้เสียหาย จากความรุนแรง โดยรัฐสองมาตรฐานจริงหรือ ?” ณ  ห้องประชุม 1 ชั้น 2 อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ
นายสมชาย หอมลออ กรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวว่า ภารกิจของ คอป. คือการเสนอแนะแนว กระบวนการในการสร้างความปรองดองของชาติ เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสูญเสียชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ขัดแย้งทางการเมือง ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่มีความต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
การเสนอแนะแนวทางที่ยั่งยืนในกับสังคมไทยได้นั้น ต้องมีการตรวจสอบค้นหาความจริง อะไรเป็นสาเหตุของความขัดแย้ง รุนแรงข่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 รวมถึงการเยียวยา ซึ่งการดำเนินการนั้น ได้ใช้วิธีที่หลากหลาย อาทิ  ทั้งการพูดคุย เดินทางไปเยี่ยมผู้เสียหาย ไม่ว่าจะผู้ชุมนุม ประชาชน พ่อค้าแม่ค้า เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน ทั้งนี้เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้เสียชีวิต 91-92 ราย ขณะที่มีบาดเจ็บหลายพันคน
นายสมชาย กล่าวต่อว่า จากการสอบถามและศึกษาสภาพปัญหาของผู้ที่ได้รับผลกระทบรวมทั้งศึกษาประสบการณ์ทั้งในและต่างประเทศ พบว่า ผู้ที่เป็นเหยื่อจะถือว่าเป็นบุคคล ที่มีความสำคัญมีที่สุดในการสร้างความปรองดองขึ้นมาในชาติ เพราะตราบใดที่ผู้เป็นเหยื่อมีความขับข้องใจ มีความรู้สึกทุกข์ระทมขมขื่น ความปรองดองจะเกิดขึ้นได้ยาก
   “ผู้ที่เป็นเหยื่อของความขัดแย้ง มีความทุกข์ยาก บางคนสามี หรือลูกที่เป็นกำลังหลักของครอบครัวต้องเสียชีวิต ขณะที่บางคนต้องนั่งรถเข็น ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ขณะเดียวกัน กรณีดังกล่าวก็ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมืองของฝ่ายต่างๆ เมื่อแต่ละฝ่ายมีคนที่อยู่ในฝ่ายของตนเป็นจำนวนนับล้านล้านคน ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะทำให้สังคมไปสู่การปรองดองได้ ดังนั้น คอป. จึงเห็นว่า การเยียวยาบุคคลดังกล่าว จึงเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นที่นำไปสู่ความปรองดอง
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมารัฐได้มีมาตรการเยียวยาในระดับหนึ่ง แต่การเยียวยาของรัฐในระยะที่ผ่านมา เป็นการใช้มาตรการตามกฎเกณฑ์ที่มีอยู่ตามปกติ ไม่ใช่เป็นกฎเกณฑ์ที่ใช้สำหรับความขัดแย้งทางการเมือง หรือความเสียหายขนาดไหน แต่เป็นการช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรม หลักผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงพอ
   “ทั้งนี้ การช่วยเหลือ ดูแลผู้สูญเสีย เสียหายจากกรณีความขัดแย้งทางการเมืองนั้น ในบ้านเราเคยมีประสบการณ์อยู่บ้าง เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลา ที่การเยียวยามีมาตรการพิเศษ รัฐดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยรัฐถึงขั้นจัดพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพที่ท้องสนามหลวง มีการให้พื้นที่บริเวณสี่แยกคอกวัวในการสร้างอนุสรณ์สถาน มีการบรรจุเหตุการณ์ 14 ตุลา ไว้ในแบบเรียน รวมถึงมีการชดใช้เงินเยียวยาจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม การเยียวยาที่ได้ผลมากที่สุด คือ การนำผู้กระทบความผิดมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม แต่ที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา บ้านเราก็ดำเนินการนิรโทษกรรม ขณะที่บางเหตุการณ์  เช่น 6 ต.ค. นั้น ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาใดๆ เลย ถ้ารัฐบาลชุดนี้ หรือชุดไหนขยายการเยียวยาไปถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ก็จะถือเป็นประวัติศาสตร์”
สำหรับหลักคิดในเรื่องความปรองดองนั้น นายสมชาย กล่าวว่า ตามหลักคิดด้านสิทธิมนุษยชน รัฐมีหน้าที่ปกป้องสิทธิในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ถ้ารัฐดำเนินการล้มเหลวก็ต้องชดใช้ตามสมควร ทั้งนี้ เพราะหลักสิทธิมนุษยชนนั้น เราถือว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาเสรี และยอมสละสิทธิเสรีภาพของตนเองให้แก่รัฐ เพื่อให้รัฐทำหน้าที่ได้ ฉะนั้น หลักการที่ คอป. เสนอแนะต่อรัฐบาลและสังคม ให้มีการเยียวยาผู้ที่เสียชีวิต บาดเจ็บ เสียหายทางด้านทรัพย์สินและจิตใจ โดยให้รัฐใช้มาตรการพิเศษ แต่ คอป. ไม่ได้มีการกำหนดว่า รัฐต้องจ่ายเท่าไหร่ หรืออย่างไร เพราะเป็นหน้าที่ของรัฐต้องพิจารณาตามความเหมาะสม  ขณะเดียวกันสังคมก็ต้องร่วมกันพิจารณาอย่างมีวุฒิภาวะ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่ใช่ภารกิจของ คอป. ที่จะลงลึกในรายละเอียด
สำหรับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องการเยียวยานั้น นายสมชาย กล่าวว่า เป็นมติตามข้อเสนอคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.)  ซึ่งคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งขึ้น เพื่อติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของ คอป. ดังนั้น จึงไม่ได้เป็นมติตามข้อเสนอของ คอป. แต่อย่างใด
ขณะที่อัตราในการจ่ายนั้น คอป. ยังรอมติจากรัฐบาลอย่างเป็นทางการ แต่เท่าที่รับทราบจากสื่อมวลชน มีความคิด ดังนี้
1. ต้องอยู่บนพื้นฐานที่รัฐต้องมีความรับผิดชอบต่อการสูญเสียชีวิต ทรัพย์สิน ร่างกายของประชาชน
2. บนพื้นฐานจะนำไปสู่ความปรองดอง และ
3. บนพื้นฐานหลักสิทธิมนุษยชนที่ชีวิต ร่างกายมีค่ามาก ทั้งนี้ ถ้ารัฐบาลพิจารณาโดยมีหลักเกณฑ์ที่สามารถอ้างอิงได้ คอป. ก็เห็นว่า สมควร ส่วนหลักเกณฑ์ของรัฐบาลจะอ้างอิงได้หรือไม่ เรายังไม่ได้รับการชี้แจง
แต่ในทัศนะส่วนตัว ตนก็เห็นว่า สมควร ส่วนเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ต่างๆ ก็ต้องได้รับค่าชดใช้เยียวยาตามกฎหมาย หรือตามคำสั่งของรัฐ ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า การชดใช้เยียวยาในอดีตต่ำมาก อีกทั้งการเยียวยาโดยกระบวนการในสังคม กรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยรัฐ ก็ถือว่า ปิดประตูตาย เพราะมีกฎหมายนิรโทษกรรมปิดประตู อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเยียวยานั้น ไม่ได้ต้องการการเยียวยาเรื่องตัวเงินเท่านั้น แต่ต้องการความเป็นธรรม
นายสมชาย กล่าวว่า สังคมไทยให้ความสำคัญกับเรื่องตัวเงินอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะมีการหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นทางการเมือง แต่ทั้งนี้ กระบวนการที่สำคัญที่สุดในการเยียวยาคือ การนำตัวผู้กระทำความผิด เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนจะไปนิรโทษกรรมก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่กระบวนการยุติธรรมต้องทำงานก่อน อย่างไรก็ตามคงต้องยอมรับว่า กระบวนการยุติธรรมบ้านเราล้มเหลว และสิ่งเหล่านี้ คอป. จะนำไปศึกษาต่อไป
นายสมชาย กล่าวถึงการเยียวยาผู้ที่ติดคุก ในคดีที่ศาลยกฟ้องว่า สำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองพบว่า มีเปอร์เซ็นต์ในการยกฟ้องสูงมาก เพราฉะนั้น การเยียวยาเป็นเรื่องจำเป็น และเห็นว่าเป็นเรื่องสมควร คดีอาญาทุกคดีต้องได้ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว เจ้าหน้าที่รัฐก็จะเอาคนไว้ในอำนาจ การควบคุมโดยไม่คำนึงถึงหลักการ พนักงานอัยการก็ฟ้องคดีไว้ก่อน โดยไม่คำถึงถึงสิทธิเสรีภาพ ทั้งนี้ ความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น จะกลายเป็นประเด็นที่ทำให้ความขัดแย้งขยายมากขึ้น การเยียวยาจึงต้องทำเร่งด่วน  ส่วนจะนำมาตรการดังกล่าว ไปเป็นบรรทัดฐานในการพิจารณากรณีอื่นนั้นก็สามารถทำได้
ขณะทื่นายวีระวงค์ จิตต์มิตรภาพ โฆษกคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) กล่าวถึงฐานคิดในเรื่องการเยียวยาว่า การเยียวยานั้นไม่ได้แปลว่า เป็นการชดเชยจากการที่มีผู้กระทำความผิด แต่การเยียวยาเป็นเรื่องนโยบาย ดุลพินิจ รวมถึงการที่รัฐบาลแสดงความรู้สึกร่วม ห่วงใย ในเหตุการณ์ที่รัฐบาลมีส่วนร่วมทำให้เกิดความความเสียหาย และไม่ต้องการให้ความทุกข์เกินเลย ส่วนที่การเยียวยาผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองนั้น แตกต่างจากผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่วม เนื่องจากมีเรื่องของสิทธิมนุษยชน รัฐ มาตรการของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถดำเนินการตามปกติได้
นายวีระวงค์ กล่าวต่อว่า การเยียวยาในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนนั้น ไม่ได้มีหลักการที่ชัดเจน จากประสบการณ์ในต่างประเทศ เช่น อเมริกาใต้ อาเจนติน่า ชิลี กำหนดให้ใช้เงินเดือนข้าราชการสูงสุดเป็นตัวตั้ง ขณะที่ประเทศไทยนั้น เงินชดเชยกรณีเสียชีวิตจำนวน 4,500,000 บาท คำนวณจากฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยประจำต่อคน ต่อเดือน ตามสถิติรายได้ประชาชาติของประเทศ (GDP per capita) ของปี 2553  ซึ่งเท่ากับ 150,177 บาท ชดเชยการเสียโอกาสในการทำงานให้กับทุกครอบครัวในอัตราเดียวกันเป็นเวลา 30 ปี นอกจากนี้เพื่อต้องการบอกว่า เราคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชน จึงกำหนดให้มีการชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจเพิ่มอีก 3,000,000 บาท ทั้งนี้ เงินจำนวน 7,500,000 บาทเฉลี่ยได้เท่ากับ 694 บาทต่อวัน
   “7,500,000 บาทเป็นตัวเลขที่สูง เพราะเราไม่เคยจ่ายมากขนาดนี้ แต่ตัวเลขดังกล่าวแฝงด้วยมติทั้งด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมรวมอยู่ด้วย และเพื่อให้ผู้ที่สูญเสียได้รับการชดเชยเยียวยา ทุกคนต้องหยุดเรื่องการเมือง รัฐบาลต้องพยายามทำให้เห็นว่าไม่มีสี เพศ อายุ อาชีพ ไม่เลือกปฏิบัติ นอกจากนี้ต้องมีมาตรการเชิงสังคม เพื่อทำให้ทุกคนรู้สึกดีขึ้น”
ส่วนกรณีเยียวยาสองมาตรฐานหรือไม่นั้น นายวีระวงค์ กล่าวว่า ต้องพิจารณาจากเหตุการณ์ที่มาจากมูลเหตุเดียวกัน ถ้าพิจารณาแต่กรณีการชุมนุมของ นปช. โดยไม่พิจารณาเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ทั้งที่เป็นเหตุการณ์เดียวกันต่อเนื่องกัน ลักษณะดังกล่าวเรียกว่าสองมาตรการ แต่ขณะนี้มีมาตรฐานเดียวกัน และเป็นมาตรฐานใหม่ที่กำหนดว่ารัฐต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ส่วนค่าชดเชยดังกล่าว หากจะนำไปใช้กับกรณีอื่นๆ นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ทั้งนี้ ไม่ได้เป็นการเชิญชวนให้ผู้คนออกมาเดินขบวนเรียกร้อง ออกมาตาย เพื่อรับเงินชดเชย แต่การออกมาชุมชนนั้นในระบบประชาธิปไตยก็ไม่สามารถเลี่ยงได้
ส่วนการเยียวยาที่มีการระบุว่า จะส่งถึงมือผู้เสียหายภายในระยะเวลา 2 เดือนนั้น
นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ กล่าวว่า สาเหตุที่สังคมไทยตั้งคำถามเรื่องเงินเยียวยาขณะนี้ เนื่องจากสิ่งที่สังคมต้องการเห็นคือมาตรฐานในการเยียวยา แต่รัฐกลับนำเสนอตัวเลขออกมาก่อน อีกทั้งตัวเลขดังกล่าวยังไม่สามารถอธิบายได้ว่ามาจากฐานคิดอะไร
อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาหลักการเยียวยาแบบสากล พบว่า มาตรฐานของศาลสิทธิมนุษชนสหภาพยุโรป ศาลสิทธิมนุษชนทวีปอเมริกา ฯ ค่าชดเชยไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้ร้องเรียน ผู้เป็นเหยื่อ ถึงแม้เหยื่อจะปฏิเสธไม่รับค่าชดเชย แต่รัฐก็จำเป็นต้องให้ ตามพันธกรณี ขณะเดียวกันรัฐตรวจสอบและเปิดเผยข้อเท็จจริง กรณีที่มีการละเมิดสิทธิมนุษชนอย่างร้ายแรง พร้อมทั้งนำผู้กระทำความผิดมาลงโทษ หน้าที่ของรัฐจึงไม่ใช่แค่มีต่อเหยื่อ แต่ต้องเลยไปถึงสังคมด้วย นอกจากนี้รัฐยังมีพันธกรณีที่จะต้องลงโทษผู้กระทำผิด เพื่อไม่ให้เกิดภาวะที่ผู้กระทำความผิดลอยนวล อย่างไรก็ตาม
สิทธิในการเข้าถึงความจริง ความยุติธรรม การชดใช้เยียวยาก็เป็นเรื่องที่มีความจำเป็น
นางอังคณา กล่าวถึงการชดเชยเยียวยาด้านจิตใจว่า ในต่างประเทศให้ความสำคัญกับการชดเชยเยียวด้านจิตใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการฟื้นฟูให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่การตีความเรื่องการชดเชยเยียวยาด้านจิตใจนั้น บางเรื่องเช่น ค่ารักษาพยาบาล สามารถประเมินได้ ส่วนการคุกคาม ฝันร้าย ภาระการพิสูจน์หลักฐานต่อเจ้าหน้าที่ ไม่สามารถประเมินไม่ได้ด้วย เงิน 3 รัฐบาลจะมอบให้ อาจไม่มีความหมายเท่ากับการความรู้สึกที่ว่ารัฐต้องการชดใช้ รับผิดชอบ รู้สึกเสียใจ สิ่งเหล่านี้มีคุณค่า ทำให้เหยื่อกลับมาอยู่ในสังคมได้ ต่อให้รัฐจ่ายแต่พันเดียวก็ตาม  นอกจากนี้เอกสารสำคัญต่างๆ ต้องถูกเก็บไว้เป็นอย่างดี เพื่อให้ไม่มีการบิดเบือนในวันข้างหน้า ขณะที่การตั้งชื่อถนน การสร้างอนุสรณ์สถาน ก็เป็นการให้เกียรติ แสดงความเคารพในศักดิ์ศรี
อย่างไรก็ตาม นางอังคณา ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กรณีที่รัฐจ่ายค่าทำศพ 250,000 บาทนั้น หากในกรณีที่ศพถูกทำลาย จะชดเชยอย่างไร
พ.ต.อ.ทวี  สอดส่อง กรรมการเยียวยา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า เหตุการณ์ในภาคใต้ต้องยอมรับว่า เรื่องความไม่เป็นธรรมมีอยู่จริง รัฐจึงต้องเข้าไปเยียวยา โดยเฉพาะเรื่องของความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม ถ้าไม่มี 7,750,000 บาทขึ้นมาเหตุการณ์ทุกอย่างก็จบไปแล้ว เพราะเป็นตามหลักศาสนาอิสลาม ความเป็นความตายเป็นไปตามลิขิตของอัลเลาะห์ ทุกคนก็จะนิ่งหมด
ขณะนี้ยอดผู้เสียชีวิตในภาคใต้มีจำนวนประมาณ 5,000 คน ผู้บาดเจ็บหรือตายทั้งเป็นประมาณ 10,000 คน อีกทั้งยังมีเด็กกำพร้า ขาดคู่สมรส คนพิการ ซึ่งคนกลุ่มดังกล่าวมีความรู้สึกว่า รัฐบาลไม่ดูแล อย่างเช่นกรณีกรือเซะ ขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับการเยียวยา เพราะกฎระเบียบเดิมไม่มี แต่เมื่อ ศอ.บต. เข้าไปทำหน้าที่จึงได้มีการมอบหมายให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ศึกษาถึงแนวทางการเยียวยาว่าเป็นควรเป็นเงินจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งพบว่าในประเทศซาอุดิอาระเบีย กำหนดให้จ่ายค่าชดเชยเป็นอูฐ 100 ตัว มูลค่าประมาณ 4 ล้านกว่า ซึ่งก็ใกล้เคียงกับที่รัฐบาลกำหนดขณะนี้ ทั้งนี้ หากจะเยียวยาผู้เสียชีวิตในภาคใต้ทั้งหมด เหตุการณ์กรือเซะ สะบ้าย้อย ตากใบ ไอปาแย ต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน
ส่วนการยกฟ้องของศาล ซึ่งพบว่า ในปี 2554 ศาลชั้นต้นยกฟ้อง 168 คดี คิดเป็น 78.5% ลงโทษ 40 คิดเป็น 18.69% ก็ต้องมีอีกมาตรฐานหนึ่ง ในการแก้ไขความรู้สึกที่ไม่เป็นธรรม
นางอลีเยาะ หะหลี ตัวแทนญาติผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะ เมื่อปี 2547 กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้ในความเป็นจริงสามารถแก้ไขได้ แต่เมื่อมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเรื่องเล็กก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ กรณีกรือเซะ เป็นความเจ็บปวด เหมือนเป็นคนต่างด้าวที่มาอาศัยเข้าอยู่ในประเทศเท่านั้น ที่ผ่านมาเคยได้รับการเยียวยาช่วยเหลือค่าจัดงานศพ 20,000 บาทและช่วยทุนการศึกษาให้ลูกเท่านั้น ที่อยู่มาได้ก็เพราะจากการจ้างงาน ส่วนเงินเยียวยาที่รัญระบุตัวเลข 7,500,00 บาทนั้นคนเสื้อเหลือง เสื้อแดง ได้เท่าไหร่คนในภาคใต้ก็ควรได้เท่ากัน จะเจ๊งก็ต้องเจ๊ง เพราะเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ประการสำคัญคือ ทำไปแล้วต้องคุ้ม ต้องได้ใจประชาชน ต้องคำนึงถึงประเทศด้วยว่า ถ้าใช้งบที่สูงขนาดนั้น เราจะเอาส่วนไหนของประเทศไปจำนำ
พ.อ.ปริญญา  ฉายดิลก โฆษกประจำตัวแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า ปัญหาภาคใต้เป็นปัญหาที่สลับซับซ้อน มีการดำเนินการต่อเนื่อง และยังไม่จบ ต่างจากสถานการณ์ในพื้นที่อื่นที่อาจได้ข้อยุติในระดับหนึ่ง การเยียวยาจึงต้องตอบคำถามว่า จะนำไปสู่ความปรองดอง สันติ สงบสุขได้หรือไม่ อย่างไร ขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาเจ้าหน้าที่ที่ได้รับผลกระทบนั้น ต้องดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบ เพราะส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน
สำหรับงบประมาณด้านความมั่นคงที่นำไปใช้ในพื้นที่ภาคใต้นั้น พ.อ.ปริญญา กล่าวว่า การใช้งบฯ พิจารณาจากสถานการณ์ในแต่ละปี โดยงบฯ ดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณากลั่นกรองเสียก่อน แต่เมื่อรวมกันแล้วอาจพบว่า ที่ผ่านมามีการใช้งบประมาณจำนวนมาก ทั้งนี้ เนื่องจากยังมีปัญหาที่ต้องแก้อยู่เรื่อยๆ