เยียวยา ′เหยื่อ′ การเมือง กับภารกิจที่ยังไม่ลุล่วง และ ′เท้า′ ที่คอยราน้ำ

มติชน 12 มกราคม 2555 >>>


ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 10 มกราคม เห็นชอบกับมติคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ในการเยียวยาและฟื้นฟูเหยื่อและผู้เสียหายตลอดจน ผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง หรือความขัดแย้งทางการเมือง
โดยเทียบเคียงให้มีมาตรฐานเป็นสากลกับการกำหนดค่าชดเชยของสหประชาชาติและประเทศที่เคยปฏิบัติในทำนองเดียวกันนี้มาแล้ว
เพื่อแสดงออกถึงความรับผิดชอบของรัฐที่ไม่มีกลไกที่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะทำให้ความขัดแย้งทางการเมืองอยู่ในกรอบและดำเนินไปตามครรลองของสันติวิธี
และเพื่อให้เห็นว่ารัฐตระหนักและรับรู้ถึงความเจ็บปวดสูญเสียของผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย และยินดีชดเชยเยียวยาแก่ทุกฝ่ายที่ได้รับความเจ็บปวดสูญเสีย ตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 จนถึงเหตุการณ์เดือน เม.ย.-พ.ค. 2553
ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่ม เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อมวลชน และภาคเอกชนตลอดจนครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบ
เบื้องต้นประมาณวงเงินงบประมาณเอาไว้เพื่อการนี้ 2,000 ล้านบาท
การเยียวยาไล่เรียงกันลงมาตั้งแต่กรณีเสียชีวิต 4,500,000 บาท/ราย ไปจนถึงกรณีทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะ บาดเจ็บสาหัส บาดเจ็บเล็กน้อย
นอกจากนั้น ยังมีการตั้งวงเงินช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาลทั้งกรณีเสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ ไปจนถึงกรณีบาดเจ็บเล็กน้อย
ที่สำคัญก็คือการเพิ่มวงเงินชดเชย 2 ประเภทที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อันได้แก่
1. การชดเชยเยียวยาผู้ที่ถูกดำเนินคดีทั้งที่ถูกคุมขังเกินกว่าระยะเวลาให้จำคุก หรือศาลพิพากษาว่าไม่มีความผิด แต่ถูกคุมขังไปก่อนแล้ว
2. การชดเชยเยียวยาความสูญเสียทางด้านจิตใจ กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพ 3,000,000 บาทต่อราย
ซึ่งหากรวมกับเงินเยียวยาความเสียหาย กรณีเสียชีวิตจะได้รับเงินรวมทั้งสิ้น 7,750,000 บาท
แต่การเยียวยาเหยื่อการเมือง ไม่ว่าจะฝ่ายไหน สีใด มิได้จบสิ้นเพียงเมื่อ ครม.มีมติเห็นชอบ แต่ยังมีสิ่งที่ต้องติดตามให้ลุล่วงอีกหลายประการ
ไม่ว่าจะเป็นเงื่อนไขและแนวทางการปฏิบัติในการจ่ายเงินจริง ที่จะต้องสะดวก รวดเร็ว และไม่เป็นภาระแก่ญาติของ ผู้เสียชีวิต หรือผู้ได้รับบาดเจ็บพิการ
ไปจนถึงวิธีการจ่ายเงิน ที่รัฐบาลเห็นว่าควรจะออกมาในรูปแบบของ "กองทุน" นำดอกผลที่ได้มาใช้ โดยที่เงินต้นยังคงอยู่ไม่สูญหาย
ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นความประสงค์ที่ตรงกันกับของผู้ได้รับการเยียวยาหรือไม่
และที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเยียวยา ซึ่งเป็นเพียง "ส่วนเดียว" ของการชำระสะสางเหตุการณ์ที่ผ่านมา
ก็คือการทำให้ความจริงและความยุติธรรมปรากฏ
เพราะปราศจากความจริงและความยุติธรรมเสียแล้ว การปรองดองที่แท้จริงย่อมไม่มีวันเกิดขึ้นได้
และสังคมไทยก็จะเดินวนเวียนกลับไปสู่จุดของความขัดแย้งที่ใช้กำลังเป็นเครื่องตัดสินอีกไม่รู้จบ
อย่าคิดว่าเป็นการมองโลกในแง่ร้าย
เพราะลำพังเพียงซีกของการช่วยเหลือเยียวยา ก็ได้รับ "คำแนะนำ" อันทรงค่าเสียแล้ว
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เมื่อมีการอนุมัติเงินประเภทนี้ ต้องมีเหตุผลและหลักเกณฑ์รองรับ อนุมัติเจาะจงเฉพาะเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งไม่ได้ แต่ยังมีคำถามว่าจะสิ้นสุดที่จุดใด สำหรับจะรวมพื้นที่ภาคใต้ด้วยหรือไม่นั้น ตนไม่แน่ใจ
อีกทั้งกรณีเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2535 ยังทักท้วงกันว่าไม่ได้รับการเยียวยา
อย่าเผลอย้อนถามกลับไปว่า แล้วทำไมระหว่างที่เป็นรัฐบาลอยู่นาน 3 ปี จึงไม่ดำเนินการชดเชยให้ผู้ประสบภัยจากไฟใต้ หรือกรณีพฤษภาคม 2535
หรือว่าการเสียชีวิตของประชาชนจำนวนมากเกิดขึ้นเมื่อใด
เดี๋ยวจะเป็นการเพิ่มจำนวน "เท้า" ที่ห้อยแกว่งอยู่ในน้ำ
ให้ถ่วงการเดินหน้าของเรือลำที่ชื่อว่าปรองดอง