มติชน 20 มกราคม 2555 >>>
เมื่อวันที่ 20 มกราคม ที่ศูนย์การเรียนรู้เชิงนิเวศ บ้านท่ามะปรางค์ เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าพนักงานสอบสวนคดีความผิดที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งรัฐ ฐานล่วงละเมิดสถาบัน (คดีล้มเจ้า) ตามแผนผังล้มเจ้าของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ จะสรุปสำนวนส่งฟ้องผู้ถูกกล่าวหา 2 คน กรณีกระทำความผิดตามมาตรา 112 ตามแผนผังศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) โดยผู้ที่ถูกฟ้องเป็นบุคคลที่มีชื่ออยู่ใน 39 รายชื่อของแผนผัง ศอฉ. ยืนยันว่ากรณีที่หลายฝ่ายกังวลว่าดีเอสไอจะเปลี่ยนจุดยืนและล้มคดี ซึ่งไม่เป็นความจริง ตนขอยืนยันว่าจะไม่มีการยกเลิกคดีนี้ จะต้องมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ทั้ง 39 รายชื่อในผัง ศอฉ.มีทั้งกลุ่มคนสีดำและกลุ่มคนสีขาว ดังนั้น จะต้องมีทั้งคนที่กระทำความผิดและคนที่ไม่ได้กระทำความผิด เป็นไปไม่ได้ที่รายชื่อทั้งหมดจะหลุดพ้นจากข้อกล่าวหา โดยในการตรวจสอบจะทำอย่างตรงไปตรงมา ใครผิดก็ว่าไปตามผิด ที่ผ่านมาดีเอสไอได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการพิจารณาสั่งฟ้องไปแล้วหลายสำนวน
"ในสัปดาห์หน้าจะหารือร่วมกับพนักงานอัยการ เพื่อวิเคราะห์คำให้การของนายถวิล เปลี่ยนศรี ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ซึ่งเข้าให้การกับดีเอสไอก่อนหน้านี้ว่ามีข้อเท็จจริงเพียงพอหรือไม่ รวมถึงจำเป็นต้องเชิญนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เข้าให้การชี้แจงที่มาของผัง ศอฉ. หรือไม่" นายธาริตกล่าว
ส่วนที่ดีเอสไอทยอยสั่งไม่ฟ้องกรณีวิทยุชุมชนเผยแพร่คำปราศรัยของนายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ในวันที่ 10 เม.ย.2553 นายธาริตกล่าวว่า การสอบสวนเรื่องวิทยุชุมชนมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเจตนาในการกระทำความผิด เนื่องจากเป็นการถ่ายทอดสดการปราศรัยของนายจตุพร ทำให้ไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่าจะมีการใช้คำพูดหมิ่นสถาบันเบื้องสูง แต่หากมีหลักฐานว่าวิทยุชุมชนใดรู้เห็นเป็นใจ ก็ต้องถือว่ามีความผิดและถูกดำเนินคดี คดีอาญาต้องดูเจตนาเป็นสำคัญ
ผู้สื่อข่าวถามถึงความจำเป็นในการเดินทางไปสอบปากคำพยานในต่างประเทศเกี่ยวกับคดีล้มเจ้า นายธาริตกล่าวว่า ในหลายคดียังมีความจำเป็นต้องเดินทางไปสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในต่างประเทศ เนื่องจากคดีล้มเจ้าไม่ได้มีการกระทำผิดเพียงบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่มีลักษณะเป็นขบวนการ และมีข้อเท็จจริงว่ามีคนในต่างประเทศร่วมกระทำความผิดด้วย ซึ่งคดีนี้ดีเอสไอไม่ได้ทำเพียงลำพังแต่มีอัยการร่วมสอบสวนทุกขั้นตอน