พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ บิดาของเฌอ หรือสมาพันธ์ ศรีเทพ ผู้ถูกยิงเสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2553 ในเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย. – พ.ค. 2553 แสดงความเห็นต่อกรณี ครม. มีมติอนุมัติเงินเยียวยาฯ ทุกฝ่ายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ช่วงก่อนเกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จนกระทั่งเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ประชาไทเห็นว่าน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ เนื้อหามีดังนี้...
มติ ครม. http://www.eppo.go.th/admin/cab/cab-2555-01-10.html#9
เชื่อว่าบางคนอยากฟังจากผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ขอแสดงความคิดเห็นสั้นสั้นก่อนนะครับ อย่างไรก็ตามผมไม่ทราบว่าจะมีเวลาเขียนยาวยาวอีกหรือไม่ ?? บางส่วนให้สัมภาษณ์ The Nation และ TPBS ไปแล้ว แต่เชื่อว่าคงมีการตัดทอนความคิดเห็นส่วนใหญ่ออกไป และผมขอเสนอความคิดเห็นเฉพาะที่เกี่ยวกับมตินี้ หรือปฏิกิริยาข้างเคียงเท่านั้น
หมายเหตุ หากอยากทราบความคิดเบื้องหลังของครอบครัวศรีเทพกรณีการเยียวยาด้วยเงิน โปรดย้อนกลับไปอ่านข่าวเก่าที่เป็นข่าวที่สัมภาษณ์ผมและภรรยาในลักษณะปฐมภูมิก่อน
ความคิดเห็นเกี่ยวกับมติ ครม.
1. หลักเกณฑ์การจ่ายเงินเยียวยาอยู่บนฐาน "ความเท่ากัน" ซึ่งจะสร้างปัญหาเรื่อง "ความเท่าเทียม" ในอนาคต
แนวคิดตามหลักสิทธิมนุษยชน ความเท่ากันไม่ใช่ความเท่าเทียม คนด้อยกว่าต้องได้รับการช่วยเหลือ ดูแล อุปถัมภ์ ฯลฯ มากกว่าเสมอ
ยกตัวอย่าง กรณีน้ำท่วมที่ผ่านมามีการกั้นแนวกระสอบทรายทำให้บ้านนาย ก. ถูกน้ำท่วมสูงมากกว่าบ้านนาย ข. ที่อยู่คนละฝั่งถนน การชดเชย นาย ก.ต้องได้มากกว่านาย ข. คือไม่เท่ากันแต่เท่าเทียม เพราะถ้าคราวหน้าน้ำมาอีกครั้งคุณคิดว่าใครจะยอมให้กั้นกระสอบทรายครับ
2. การจ่ายเงินเพื่อการเยียวยาต้องยึดหลัก “มูลค่าการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ” ซึ่งมีหลักการคำนวณหลายรูปแบบ หลักหลักคือ โอกาสในการสูญเสียรายได้ที่จะนำมาประทังชีวิตของครอบครัวคืออะไร มีตัวชี้วัดอะไรบ้าง เช่น รายได้ของผู้ตายขณะยังมีชีวิตอยู่ จำนวนผู้อยู่ภายใต้การอุปการะของผู้เสียชีวิต ฯลฯ
เนื่องจากเงินไม่ได้มีหน้าที่เพื่อเยียวยา หน้าที่ของเงินคือการแลกเปลี่ยนเป็นสินค้า ดังนั้นหากเยียวยาเป็นเงินเราจึงต้องพิจารณาจากโอกาสทางเศรษฐกิจที่สูญเสียไป แต่หากเราจะเยียวยาเป็นข้าวสาร เราก็ต้องเปลี่ยนมาพิจารณาจาก “ปริมาณตัวกิน”, “อัตราการกินเฉลี่ยต่อคนต่อปี”, “อัตราการเจริญเติบโตที่สัมพันธ์กับอัตราการกิน” เป็นต้น
กรณีนี้ ผมให้สัมภาษณ์ TPBS โดยเปรียบเทียบกรณีของครอบครัวเรากับครอบครัวอัศวสิริมั่นคง ที่พี่ฐานุทัศน์ อัศวสิริมั่นคง ถูกยิงจนทุพลภาพ ต้องรักษาตัวไปตลอดชีวิต ภรรยาไม่ได้ทำงาน ลูกชายกำลังศึกษามหาวิทยาลัย ลูกสาวอยู่ชั้นมัธยม ดูจากหลักการเรื่องนี้อย่างไรครอบครัวอัศวสิริมั่นคงต้องได้รับเงินเยียวยามากกว่าครอบครัวศรีเทพที่สูญเสียเฌอ ทั้งนี้โดยนำฐานคิดของข้อ 1. มาพิจารณาร่วมด้วย
อ่านเพิ่มเติมกรณี ครอบครัวอัศวสิริมั่นคง ที่นี่
https://www.facebook.com/events/211666738920189/
อ่านความคิดเห็นบางส่วนเรื่อง Priceless เพิ่มเติมได้ ที่นี่
https://www.facebook.com/rood.thanarak/posts/2536623617204
3. ผมได้รับข้อมูลจากบางสื่อว่ามติ ครม.นี้จะมีการเยียวยาพี่น้องภาคใต้ และพี่น้องพันธมิตรด้วย (หากคลาดเคลื่อนต้องขออภัย) ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องดี (เฉพาะเรื่องการจ่ายเงินเยียวยา) แต่ผมเห็นว่าไม่ควรนำเรื่องนี้มารวมอยู่ในมติ ครม. เดียวกัน เพราะจะเป็นการลดทอนประเด็นปัญหานั้นไป โดยเฉพาะกรณีพี่น้องชายแดนใต้ที่ถูกทารุณกรรมจากภาครัฐจนเสียชีวิต บาดเจ็บ ฯลฯ ครอบครัวถูกประณามหยามหมิ่นจากสังคมว่าเป็นครอบครัวของโจรใต้ ขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ (โดยเฉพาะอาชีพที่รับเงินเดือนประจำที่เชื่อกันว่ามีความมั่นคงสูงกว่าอาชีพลักษณะอื่น)
การแยกประเด็นออกไปจากกันเท่านั้น เราจึงจะสามารถช่วยเหลือ เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างสมเหตุสมผล และจะนำไปสู่การแก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การปรองดองสมานฉันท์ได้อย่างแท้จริง
4. สำหรับผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ ผู้สูญเสียอาคาร บ้านเรือนทรัพย์สิน ตลอดจนผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัว หนทางเยียวยาที่ทำได้ง่าย รวดเร็ว และสามารถทำได้ทันที คือ ภาระหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องประกาศต่อสังคมถึงกำหนดระยะเวลาและกรอบการทำงานเพื่อสืบหาข้อเท็จจริงในเหตุการณ์แต่ละกรณี และแถลงความคืบหน้าเป็นระยะ มากกว่าจะรอให้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบตามกดดันเรียกร้องอย่างเช่นทุกวันนี้ เพราะนั่นย่อมเปิดเปลือยกับประชาคมโลกให้เห็นว่าความยุติธรรมไม่เคยมีอยู่ในประเทศแห่งนี้
ปฏิบัติการที่เร็วที่สุดสามารถทำได้ทันที คือ คำขอโทษจากรัฐบาลถึงความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายจนมีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บ สูญเสียบ้านเรือนทรัพย์สิน ครอบครัวแตกสลาย หมดโอกาสในการทำมาหากินและการศึกษา ฯลฯ ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม เพราะนั่นจะเสมือนคืน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย แต่มีครรลองในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกทางการเมืองแตกต่างกัน
หมายเหตุ แม้ฮิตเลอร์จะกระทำอัตวินิบาตกรรมตัวเอง หรืออาจจะยังลอยหน้าลอยตาอยู่ในสังคมไทย ภาระหน้าที่ที่ผูกพันในการกล่าวคำขอโทษก็ยังตกอยู่กับรัฐบาลชุดปัจจุบัน หรือชุดอนาคตต่อไป หากรัฐบาลชุดนี้เห็นว่าตนไม่มีหน้าที่ขอโทษประชาชน เพราะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
5. เป็นไปได้ยาก ที่มนุษย์ปรกติธรรมดาอย่างเราอดที่จะนำคนละเหตุการณ์ คนละมิติ คนละบริบทมาพิจารณาเปรียบเทียบร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าหากพิจารณาในแง่ของหลักการบนฐานของเหตุและผล เราก็สามารถเปรียบเทียบได้อย่างเข้าใจตรรกะและบริบทของเหตุการณ์และช่วงเวลานั้นนั้นได้ โดยไม่คลาดเคลื่อนออกห่างจากความเป็นมนุษย์ปรกติมากนัก
ตามความเป็นจริงแล้ว ผมควรจะทำเนียนอยู่เงียบเงียบน่าจะเป็นผลดีกับครอบครัวมากที่สุด แต่เมื่อเห็นเพื่อนเพื่อนแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วยจึงขอร่วมแสดงความคิดเห็นไว้ ณ ที่นี้ เพราะถึงอย่างไรผมก็ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไป 2 รายแล้ว และเกรงว่าข้อจำกัดของสื่อเองในแง่พื้นที่และเวลานำเสนอ อาจจะนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนมากไปกว่านี้ จึงนำเรียนไว้ ณ ที่นี้ ทั้งนี้โดยเชื่อว่าความคิดเห็นของผมไม่ใช่ข้อยุติหรือถูกต้องเสมอไป.
ขอบคุณครับ, |
(พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ พ่อน้องเฌอ สมาพันธ์ ศรีเทพ อายุ 17 ปี ผู้ถูกยิงตายเหมือนหมากลางถนน เมื่อวันเสาร์ที่ 15 พฤษภาคม 2553 ในเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชน เมย. – พ.ค. 2553)