‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ ยันสัมพันธ์เสื้อแดง-รัฐบาลยังเข้มแข็ง เชื่อมีคนจ้องล้ม แนะจับตาการเมืองเข้มข้น ชี้ ‘คอร์รัปชั่น’ เหตุผลเดียวที่ทำให้ล่ม

ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง 9 มกราคม 2555 >>>




เปลือยอก ‘ณัฐวุฒิ’ มองการเมืองปี 2555 เข้มข้น เผยมีฝ่ายจ้องล้มรัฐบาลหยิบทุกเงื่อนไขให้อ่อนแอ สร้างความขัดแย้งปะทุเดือดอีกรอบ วางอนาคต ‘นปช.’ ลุยแก้รัฐธรรมนูญ ทวงคืนอิสรภาพ เยียวยาเหยื่อสลายม็อบแดง
หลังจากประเทศไทยประสบภาวะวิกฤติทางการเมืองอย่างสาหัส ในปี 2553 ร่องรอย “แผลเป็นทางการเมือง” ยังโผล่ฟ้องให้ได้นึกย้อนอยู่เป็นระยะๆ สำหรับบางคนคือความทรงจำอันเลวร้าย สำหรับบางคนเสมือนหนทางสู่ชัยชนะในเวลาต่อมา และแม้ว่าในช่วงกลางปี 2554 มีการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่มาบริหารประเทศ แต่กลับไม่มีใครกล้าออกมาให้คำมั่นสัญญากับคนไทยได้ว่า หลังการเลือกตั้งปัญหาความขัดแย้งวุ่นวายจะหมดลง มิหนำซ้ำหลายเหตุหลายสถานการณ์ กลับเสมือนจะเป็นจุดเริ่มให้เป็นที่กังวลใจว่า ในปี 2555ที่มองกันว่าน่าจะสดใส ฟื้นฟูประเทศ โดยเฉพาะหลังวิกฤตน้ำท่วม และเศรษฐกิจทรุดตัว จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นให้ซ้ำร้ายอีกหรือไม่
คนกลุ่มแรกที่ถูกจับตามองนั่นก็คือ “กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช.” เนื่องเพราะถูกอ้างว่าเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่เลือกพรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเป็นผู้ค้ำยันรัฐบาลอยู่ในวันนี้ และผู้ที่จะตอบคำถาม ให้คำตอบ ให้คำยืนยัน หรือวิเคราะห์แนวทางการเคลื่อนไหวของกลุ่มนปช. และคำถามที่คนไทยอยากรู้ว่า “ปีหน้าการเมืองไทยจะรุนแรงหรือไม่” ก็คือ ณัฐวุฒิ ใสเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย แกนนำ นปช.
ณัฐวุฒิกล่าวว่า แนวทางเคลื่อนไหวหลังจากการเลือกตั้ง เน้นการขยายตัวของเครือข่ายทั้งในส่วนองค์กรและภูมิภาค ให้มีความชัดเจนสอดคล้องกับสถานการณ์ เพียงแต่หลังจัดตั้งรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เจอกับวิกฤติน้ำท่วม ทำให้รูปแบบกิจกรรมหยุดชะงัก ต้องมารณรงค์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ไม่ว่าจะเป็นการจัดเวทีในส่วนกลาง ตั้งจุดรณรงค์รับบริจาคในส่วนภูมิภาคและเข้าพื้นที่ประสบภัยตั้งจุดบรรเทาเหตุ หรือช่วยเหลือบริการต่างๆ ใช้เวลาไปกับเรื่องนี้เป็นส่วนใหญ่ในปี 2554
แต่ต้นปี 2555 จะมีการพูดคุยกันระหว่างแกนนำนปช. ส่วนกลาง เพื่อสรุปประเมินสถานการณ์ กำหนดบทบาท แนวทางการเคลื่อนไหวให้ชัดเจน หลังจากนั้นคงมีกิจกรรมร่วมกับพี่น้องคนเสื้อแดงในส่วนภูมิภาค เพื่อทำความเข้าใจแนวทาง เสริมสร้างความมั่นใจในการเคลื่อนไหวต่อไปข้างหน้าด้วยกัน
ประเด็นหลักที่ต้องพูดถึงกันคือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับบาดเจ็บ เสียหาย จากการสลายการชุมนุมในปี 2553 รวมถึงการพยายามให้ผู้ถูกคุมขังทั้งหลายได้รับสิทธิในการประกันตัว ต่อสู้คดีให้ได้รับอิสรภาพ รวมทั้งหากกระบวนการปรองดองที่หลายฝ่ายกำลังดำเนินการ ความร่วมมือจากเสื้อแดง เราก็พร้อมให้ความร่วมมือ ถ้าหากคำว่าปรองดองจะนำไปสู่สันติภาพและประชาธิปไตย เราก็พร้อมร่วม

โครงสร้าง นปช. ในปี 2555 เป็นอย่างไร จะมีการเปลี่ยนแปลงแกนนำหรือไม่

ในแง่ตัวบุคคล คนที่มีสถานะทางการเมือง อาจจะไม่มีเวลาทุ่มเทให้กับการเคลื่อนไหวของนปช. เต็มรูปแบบเหมือนแต่ก่อน และน่าจะเปิดโอกาสให้แกนนำนปช.ในส่วนภูมิภาค ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับส่วนกลางได้มากขึ้น ส่วนตัวประธานนปช. ควรจะมีประธานที่ชัดเจนเป็นทางการ ซึ่งนางธิดา ถาวรเศรษฐ อยู่ในฐานะประธานรักษาการ ซึ่งต้องมาพูดคุยกัน โดยส่วนตัวเห็นว่านางธิดา ทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี

ในกลุ่มแกนนำมีการพูดคุยเรื่องการเปลี่ยนตัวประธาน นปช. หรือไม่

ไม่ได้มีการพูดคุยกันถึงขนาดนั้น ต้องเข้าใจว่านี่ไม่ใช่องค์กรแห่งอำนาจ ใครเป็นประธาน เลขาฯแล้วจะสั่งซ้ายหัน ขวาหันไม่ใช่ ทุกคนเท่าเทียมกัน การจะเปลี่ยนตัวประธานหรือไม่นั้น พูดแบบนั้นดูเหมือนว่าใครได้เป็นประธานแล้วมีอำนาจสั่งการ มีผลประโยชน์มากมาย ซึ่งจริงๆไม่มีอะไรเลย ทุกคนทำหน้าที่เป็นแกนนำทั้งหมด และแกนนำทั้งหมดเป็นมวลชนด้วย

วันนี้ความสัมพันธ์ระดับแกนนำเป็นอย่างไร

ก็ดี กับนายวีระ มุกสิกพงศ์ ก็คุยกันเรื่อยๆ ส่วนแกนนำคนอื่นๆ ที่เคยกอดคอต่อสู้กันมาเป็นปกติ เพียงแต่เจอกันน้อยลง เนื่องจากปีที่แล้วเป็นปีแห่งการต่อสู้

การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงจะคู่ขนานไปกับการดำเนินการของพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่

เมื่อพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลแล้ว คงจะมีเรื่องการปฏิบัติตามนโยบายที่ได้หาเสียงเอาไว้ มีการใช้กลไกรัฐจัดการปัญหาต่างๆ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงโดยตรง เมื่อมีการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายของพรรคตามที่ได้ประกาศ คนเสื้อแดงก็มีฐานะเท่าเทียมกับประชาชนคนหนึ่งเท่าๆกับคนทุกคนทุกสีเสื้อ ที่เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายรัฐบาลอย่างเสมอภาค
ถ้าไปแตะเรื่องนโยบายมากจะเป็นแรงเสียดทานทางการเมืองกับรัฐบาล เนื่องจากจะถูกกล่าวหาว่าแต่ละนโยบายทำเพื่อคนเสื้อแดงเป็นพิเศษ เพราะฉะนั้นงานด้านนโยบายพรรคเพื่อไทย รัฐบาลก็ว่าไป ในส่วนของเสื้อแดงนโยบายจะขับเคลื่อนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางการเมือง เรื่องประชาธิปไตยเป็นหลัก และแน่ใจว่าถ้าเป็นเรื่องประชาธิปไตย คิดว่าพรรคเพื่อไทยน่าจะเป็นแนวร่วมที่ดีเหมือนกับที่เคยเดินร่วมทางมา

การชนะการเลือกตั้งของพรรคเพื่อไทย มาจากการสนับสนุนของ นปช. มีส่วนช่วยเสริมชัยชนะอย่างไร

คนเสื้อแดงเป็นเพื่อนแท้ของพรรคเพื่อไทย ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยก็เหมือนเป็นชัยชนะของเสื้อแดงด้วย เพราะฉะนั้นในสนามเลือกตั้ง ถือว่าทั้งคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทย เป็นเจ้าของการต่อสู้ในสนามนั้นด้วยกัน แต่เราจะไม่พูดเลยเถิดว่า คนเสื้อแดงมีบุญคุณกับพรรคเพื่อไทย หรือ เป็นผู้ที่มีอิทธิพล บารมีเหนือพรรค เพราะทำให้พรรคได้กลับมาเป็นรัฐบาล พูดอย่างนั้นไม่ได้ รัฐบาลต้องเป็นของคนทั้ง 65 ล้านคน ไม่ใช่คนเพียง 15 ล้านเสียง เพราะฉะนั้นสถานะรัฐบาลต้องเป็นแบบนี้และอยู่แบบนี้ ยืนยันว่าจะไม่มีการทวงบุญคุณกัน ไม่มี
ส่วนหนึ่งของฐานเสียงเป็นนปช.เป็นภาพที่ปรากฎ แต่การที่เราสนับสนุนพรรคการเมืองใดให้ชนะเลือกตั้งเป็นรัฐบาลไม่ได้หมายความว่า เรามีอำนาจ อิทธิพล บารมีเหนือรัฐบาลนั้นๆ และไม่ได้หมายถึงรัฐบาลต้องมาทำอะไรตามใจคนเสื้อแดงทุกเรื่อง ทุกอย่าง เอาแค่ว่าการต่อสู้ของประชาชนให้บ้านเมืองเกิดความเป็นธรรม เสมอภาค เท่าเทียม ก็พอใจแล้ว
ล่าสุดมีความเห็นจากแกนนำ นปช. ที่แสดงความไม่พอใจรัฐบาล สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งของทั้ง 2 ฝ่าย
สถานการณ์นี้เป็นเรื่องที่คนเสื้อแดงต้องเรียนรู้ เพราะไม่เคยผ่านประสบการณ์แบบนี้ มีแต่ช่วงเวลาของการต่อสู้ ถูกรุกราน ไล่ล่า ถูกกดขี่ข่มเหงในฐานะประชาชนผู้ไร้อำนาจ และเมื่อเดินมาถึงจุดที่เราและอำนาจรัฐสนิทแนบแน่น ก็เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ว่าจะผ่านไปอย่างไร ทำให้อำนาจรัฐเป็นเครื่องทุ่นแรงอย่างสำคัญในการสร้างประชาธิปไตยตามอุดมการณ์ที่เชื่อ นี่เป็นสถานการณ์แห่งอำนาจที่คนเสื้อแดงต้องเรียนรู้
มีข้อที่น่าสังเกตในกระบวนการเรียนรู้คือ เมื่อต่อสู้มาถึงวันที่ฝ่ายเราถืออำนาจ มักจะเกิดความแตกแยกขัดแย้งและย่อยสลายตัวเอง พูดกันชัดๆคือ กลุ่มพันธมิตรฯ และพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยสนิทแนบแน่นเนื้อเดียวกัน แต่วันที่พรรคประชาธิปัตย์ขึ้นมามีอำนาจ ถึงจุดหนึ่งเกิดความขัดแย้งแตกแยกถึงขนาดชุมนุมขับไล่ คนเสื้อแดงต้องเรียนรู้ปรากฏการณ์เหล่านี้ และสิ่งที่เกิดขึ้นกับเราเอง ผมยืนยันว่า ตราบใดที่พรรคเพื่อไทยยังคงรักษาจุดยืนทางการเมืองได้ คนเสื้อแดงจะเป็นเพื่อนแท้ไปตลอดทาง

กรณีที่กลุ่มคนเสื้อแดงพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 แต่รัฐบาลไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร

ความพยายามเคลื่อนไหวเรื่องนี้ไม่ได้มีขอบเขตเฉพาะประชาชน นักวิชาการที่เคลื่อนไหวในนามคนเสื้อแดงเท่านั้น ต้องบอกว่า ประเด็นนี้มีหลายคนหลายกลุ่ม ออกมาเคลื่อนไหวทั้งสนับสนุนและคัดค้าน และคนที่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่ใช่คนที่เคยร่วมขบวนในการเคลื่อนไหวร่วมกับคนเสื้อแดง เพราะฉะนั้นคงจะอธิบายเป็นภาพระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดงไม่ชัดนัก แต่ต้องดูว่า รัฐบาลมีท่าทีต่อเสียงเรียกร้องเหล่านี้อย่างไร มีความชัดเจนว่า รัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ไม่มีแนวคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 แต่การที่มีคนเรียกร้อง อธิบายขึ้นมาในสังคมผู้มีอำนาจต้องรับฟัง และไม่ปิดกั้นโอกาสในการอธิบายตามเสรีภาพ ซึ่งจะทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์นี้อย่างไร ให้มีการแลกเปลี่ยนกันอย่างไร

จุดยืนของคนเสื้อแดงต่อ มาตรา 112 เป็นอย่างไร

เราพูดกันมาโดยตลอดเรื่องสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียม ดังนั้นเรื่องนี้ยังไม่มีการหารือกันระหว่างแกนนำนปช.ที่จะแสดงท่าทีในนามนปช.ชัดเจน แต่เป็นช่วงเวลารับฟัง ดูการเคลื่อนไหวหลายฝ่าย ผมคิดว่าประเด็นที่เป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 ไม่ได้อยู่ที่ตัวหนังสือที่บัญญัติออกไป น่าจะอยู่ที่วิธีการบังคับใช้แล้วกลายเป็นเครื่องมือคุกคามอีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งต้องมาพูดกัน

การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม และกฎหมายอภัยโทษเป็นอย่างไรบ้าง

ยังไม่มีคนเสื้อแดงผลักดันเรื่องดังกล่าว เป็นความพยายามของอีกฝ่ายที่ออกมายัดเยียดประเด็นนี้มาใส่ มีคนกลุ่มหนึ่งออกมาเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 112 ก็ถูกกล่าวหาว่า ล้มเจ้า ซึ่งอยากให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย จะไปสรุปไม่ได้ต้องฟังเหตุผลคืออะไร หลักการฟังได้หรือไม่ เพราะฉะนั้นเรื่องการนิรโทษกรรมและเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ นปช.ยังไม่เคยพูด และคนที่พูดส่วนใหญ่มาจากฝ่ายตรงข้าม

การแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล กลุ่ม นปช. จะร่วมขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

แน่นอน เราสนับสนุน ประชาชนหากจะรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอต่อรัฐสภาให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเสรีภาพที่สามารถทำได้ แล้วฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยก็ถือเป็นเสรีภาพที่จะอธิบายมุมมอง หลักการ เหตุผลที่แตกต่าง แล้วประชาชนทั้งประเทศจะเป็นผู้พิจารณา ซึ่งแนวทางที่เราเห็นว่าจะเป็นไปได้ ลดความขัดแย้งและเป็นเหตุเป็นผล ประชาชนมีส่วนร่วมคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้มี ส.ส.ร. (สภาร่างรัฐธรรมนูญ) แล้วยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ประชาชนลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

การแก้ไขรัฐธรรมนูญมีทั้งผู้คัดค้านและเห็นด้วย จนนำไปสู่การชุมนุม กลุ่ม นปช. จะทำอย่างไร

คิดว่าวันนี้สังคมเดินมาถึงจุดที่คุยกันด้วยเหตุ ด้วยผล จะเอามวลชนมากดดันต่อต้าน ผมแน่ใจว่าพลังของคนเสื้อแดงที่ออกมาสนับสนุนแก้ไขรัฐธรรมนูญก็มีอยู่มากมายมหาศาล แต่ไม่มีแนวคิดเช่นนั้น แต่คิดว่า เมื่อการต่อสู้ทางการเมืองมายาวนานกว่า 5 ปี มีการหักล้าง โต้แย้งทุกประเด็นที่เป็นปัญหา เชื่อว่า ผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2554 น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่คนไทยใช้เหตุ ใช้ผลทำความเข้าใจกัน เรื่องไหนเห็นต่างแสดงเหตุผล หักล้างกันได้ แต่เมื่อคนส่วนใหญ่ เสียงข้างมากเห็นว่าควรดำเนินการอย่างไร อีกฝ่ายต้องยอมรับเสียงข้างมาก
ไม่จำเป็นต้องเอามวลชนมาเผชิญหน้ากัน เพื่อหักล้างในสิ่งที่เห็นแตกต่าง ถ้าเป็นอย่างนั้นอีก แสดงว่า เราแต่ละฝ่ายไม่ได้เก็บบทเรียน ไม่ได้เกิดการเรียนรู้จาก 5 ปี ที่ผ่านมาเลย แล้วประเทศไทยจะไม่พบทางออก การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการพยายามทำให้บ้านเมืองกลับสู่กติกาที่มาจากประชาชนเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงที่ทุกฝ่ายยอมรับได้



มองว่าสถานการณ์การเมืองปีหน้าจะเป็นอย่างไร

เข้มข้นแน่นอน เพราะฝ่ายที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลจะหยิบยกทุกประเด็นเงื่อนไข เพื่อให้รัฐบาลอ่อนแอลง เพราะฉะนั้นเรื่องรัฐธรรมนูญ เรื่องต่างๆ ที่เป็นประเด็นทางการเมืองจะทำหรือไม่ทำ อีกฝ่ายหนึ่งจะสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งให้เกิดขึ้นอยู่แล้ว

จะนำไปสู่การปฏิวัติหรือเปล่า

ไม่คิดว่าจะมีใครทำอีก แต่ไม่วางใจร้อยเปอร์เซ็นต์ บ้านเมืองนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้ ท่ามกลางสถานการณ์วุ่นวาย เพียงแต่เราต้องยึดหลักให้ดี ยืนอยู่บนหลักการประชาธิปไตย ขยายเครือข่าย มวลชน ทำงานแนวร่วมกับนานาประเทศ รวมถึงสื่อมวลชนทุกแขนง เราจะแข็งแรง แล้วใครที่ใช้วิธีรัฐประหารมาจัดการการเมืองอีก คิดว่าเป็นโจทย์ยากและคิดนาน ซึ่งผลจากรัฐประหารไม่มีใครคาดเดาได้เลย ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่น่าจะเป็นเครื่องมือที่ฝ่ายเผด็จการเลือกใช้ในระยะใกล้นี้
คิดว่า 4-5 ปีที่ผ่านมา ใช้มาหมดทุกรูปแบบ หวังว่าจะพอเสียที ให้บ้านเมืองเป็นไปตามกลไกกติกา คิดจะล้มรัฐบาลไม่แปลก แต่ต้องล้มกันในระบบ ล้มกันในกระบวนการ กติกา ตรวจสอบรัฐบาล หากทำอะไรไม่ดี มีการทุจริต คอรัปชั่น อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ เห็นความจริงชัดเจน อย่างนี้ล้มรัฐบาลได้ แต่ถ้าเอาประเด็นทางการเมืองมากล่าวร้ายให้สี เอามวลชนมาปิดล้อม กดดัน เอากองทัพมาจัดการ หรือองค์กรอิสระต่างๆมาเล่นงานแบบที่เคยผ่านมามันจะไม่จบ

วันนี้ความสัมพันธ์กับกองทัพเป็นอย่างไรบ้าง

ผมไม่มีความสัมพันธ์กับกองทัพ เหมือนปกติที่ผ่านมา ไม่คิดว่านายทหารคนหนึ่งคนใดเป็นศัตรูกับตัวเองหรือ นปช. แต่สิ่งที่ทหารทำแล้วมีสิ่งใดที่ขัดกับกฎหมายก็ต้องรับผิดชอบ

มีเงื่อนไขอะไรที่จะกระทบกับเสถียรภาพรัฐบาลหรือไม่

อย่างเดียวที่รัฐบาลนี้จะอยู่ไม่ได้คือ การทุจริต คอร์รัปชั่น ต้องไม่มี ส่วนเรื่องอื่นๆยังไม่เห็นว่าเป็นภัยร้ายแรง ซึ่งรัฐบาลต้องเดินทุกก้าวด้วยความระมัดระวัง ผ่อนหนัก ผ่อนเบาในทุกอำนาจ อย่าไปเดินในพื้นที่เสี่ยงเกินความจำเป็น แต่บางจุดที่ต้องทำแม้จะเสี่ยงบ้าง เพื่ออนาคตบ้านเมือง แก้ไขปัญหาประเทศก็ต้องลงมือ คนในรัฐบาลต้องชั่งน้ำหนัก สถานการณ์ไม่ตายตัว เพราะนี่คือเรื่องการเมือง ไม่ใช่คณิตศาสตร์ ขอให้ดูเป็นตอนๆไป คิดว่ารัฐบาลน่าจะอยู่ครบเทอม ยืนยันว่าไม่มีสัญญาณการแตกหักกับคนเสื้อแดงระหว่างรัฐบาลกับคนเสื้อแดง

ประเด็นที่ฝ่ายค้านและกลุ่มต่างๆจับตาเรื่องการช่วยเหลือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะทำให้เป็นเงื่อนไขนี้กระทบรัฐบาลหรือไม่

นั่นเป็นเครื่องมือสำคัญ ที่ฝ่ายตรงข้ามจะนำมาใช้ในการทำลายรัฐบาลชุดนี้ ถึงแม้ว่ารัฐบาลไม่พูดถึงพ.ต.ท.ทักษิณ เลย อีกฝ่ายก็จะยัดเรื่องของพ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ดี เช่นเรื่องพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ ตีข่าวใหญ่โต ทั้งที่ไม่มีอะไรเลย อีกฝ่ายต้องการนำชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาอยู่ในสมการของความขัดแย้ง ถือเป็นเรื่องที่เราต้องรู้เท่าทันและระมัดระวัง โดยการสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงขึ้นมาให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยตัวจริง ไม่มีการแทรกแซงอำนาจจากบุคคลใดๆที่อยู่นอกเหนือกระบวนการประชาธิปไตยของประชาชน ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี วันนี้มีโอกาสสำเร็จเพราะประชาชนมีสำนึกทางการเมือง ส่วนของขวัญปีใหม่สำหรับคนเสื้อแดงคือ อยากได้ประชาธิปไตย และความยุติธรรมให้กับพี่น้องที่บาดเจ็บล้มตาย อยากได้สันติภาพที่แท้จริงสำหรับประเทศไทย ปลายทางของการต่อสู้คือทุกคนได้ประโยชน์เท่าเทียมกัน

ปีนี้การเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดงจะเป็นอย่างไร

การชุมนุมของคนเสื้อแดงไม่น่าวิตกกังวล แต่ที่น่าวิตกกังวลคือ ฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตยจะมีอำนาจอะไรมาคุกคามประชาชน ตรงนั้นต่างหากจะเป็นเงื่อนไขของความขัดแย้ง รูปแบบการต่อสู้ทางการเมืองมีหลายรูปแบบส่วนคนเสื้อแดงจะชุมนุมหรือไม่ ก็อยู่ที่สถานการณ์