สืบเนื่องจากการที่สมเกียรติ อ่อนวิมลเคยออกมาเขียนบทความวิพากษ์หนังสือพิมพ์ในเครือมติชน ใน Facebook ของเขาโดยใช้ชื่อว่า “ปีใหม่ 2555 หยุดซื้อ มติชน” (ท่านที่ยังไม่ได้อ่านสามารถอ่านบทความดังกล่าวได้ที่ http://www.siamintelligence.com/somkiat-to-stop-buying-matichon) ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับบทบาทของสื่อค่ายต่างๆที่มีต่อความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย ล่าสุด ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐออนไลน์ได้ทำการสัมภาษณ์เขาในประเด็นที่เกี่ยวเนืองกับกรณีมติชน และได้ทำการลงในเว็บไซท์ไทยรัฐออนไลน์ โดยใช้ชื่อบทสัมภาษณ์่ว่า "'อย่านั่งเทียน สังคมตื่นแล้ว...!!' สลิ่ม-สมเกียรติ อ่อนวิมล แมลงวันตอมแมลงวัน ?"
อนึ่ง สมเกียรติ อ่อนวิมล เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่จัดตั้งขึ้นตามแนวชี้แนะของ คมช. เมื่อ พ.ศ. 2549 และเป็นสื่อสารมวลชนที่ประกาศจุดยืนว่าสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์อย่างเต็มที่ในการเลือกตั้งเมื่อ พ.ศ. 2554 (สามารถดูได้จากบทความบน Facebook ของเขาที่ชื่อ "พอใจผลงานรัฐบาลนายกฯอภิสิทธิ์ เรื่องเศรษฐกิจ และการเจรจาแบบทวิภาคีกับกัมพูชา" ตามลิงค์นี้ http://www.facebook.com/note.php?note_id=170914169633980&comments)
................................
"'อย่านั่งเทียน สังคมตื่นแล้ว...!!' สลิ่ม-สมเกียรติ อ่อนวิมล แมลงวันตอมแมลงวัน ?"
ถือได้ว่าเป็นอีกครั้งหนึ่งที่แมลงวันหัวกะทิอย่าง ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล นักวิชาการและสื่อมวลชนฝีมือดีออกมาตอมแมลงวัน วิพากษ์วิจารณ์เพื่อนร่วมวิชาชีพแบบตีแสกหน้าตรงๆ บนหน้าเฟซบุ๊ก ไทยรัฐออนไลน์มีโอกาสได้ถามไถ่ความเป็นมาแล้ว ในบรรยากาศเทรนด์ฉาบฉวยแบบที่เขาวิพากษ์วิจารณ์สื่อสารมวลชนแบบเผ็ดร้อน ณ วันนี้
ทิศทางสื่อมวลชนแต่ละสังกัดแบ่งเป็นสีแบบไร้เหตุผลจะเป็นเช่นไร 'ดำรงอยู่ได้' อย่างสง่า หรือ "รอวันตาย" ?
Q : ที่ไปที่มาในการเขียนเฟซบุ๊กที่เป็นกระแสทอล์กออฟเดอะทาวน์เริ่มจากเฟซบุ๊ก ?
A : ผมว่าจะหยุดซื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ด้วยเหตุผล 2 เรื่องจริงๆ ผมเป็นแฟนหนังสือพิมพ์รายวันเขาตั้งแต่เด็กๆ นะ และก็รู้จักคนที่อยู่ในนั้นมากมายเพียงแต่ว่า ความคิดทางการเมืองที่เขาเอียงไปทางเสื้อแดงและคุณทักษิณ ผมว่าผมจับทางถูกก็ไม่ว่ากันว่าจะเอียงไปทางไหน ผมคิดว่าเป็นเสรีภาพของสื่อยุคนี้ เครือผู้จัดการก็เอียง ใครๆ ก็เอียงได้ถือว่าเป็นโลกใหม่ แต่กับฉบับทักษิณ บุคคลแห่งปี คุณเอียงแบบไม่ลงทุน ไม่ทำงาน ไม่ทำการบ้าน ไม่ค้นคว้า สมมติว่าคุณเอียงเข้าข้างทักษิณ คุณจะยกย่องให้เป็นคนดีที่สุด ประจำปี คุณต้องทำรีพอร์ต ต้องส่งคนไปรายงาน ต้องสัมภาษณ์ และทำสัก 10 หน้า ไม่ใช่ 3 ส่วน 4 หน้า น่าเสียดาย
ผมซื้อเพราะก็อยากรู้ว่าทำไมเขาให้คุณทักษิณ จริงๆ บุรุษแห่งปีไม่จำเป็นต้องเป็นคนดีนิตยสารไทม์ส ก็ยกย่องคนที่มีเรื่องอื้อฉาวเป็นบุคคลแห่งปีบ่อยไป ดังนั้นครั้งนี้คุณไม่ทำงานให้ผมเห็นคล้อย แต่กลับใช้วิธีเสมือนนั่งเทียนจินตนาการ คิดเอาเองใช้โวหาร พยายามให้มันจบเร็วๆ ภายในไม่ถึง 1 หน้า เป็นต่างประเทศจะเอาใครขึ้นปกเขาทำการบ้านเขียนกัน 4-5 คน 7-8 ประเทศ คราวนี้ถือว่าเป็นงานที่ชุ่ยมาก และฉบับรายสัปดาห์นี้ก็เป็นฟางเส้นสุดท้ายของผมที่ทำให้ประกาศเลิกซื้อเลย
Q : มองเห็นปัญหาเรื่องข้อมูลไม่แน่นที่ว่ามาตั้งนานแล้ว ?
A : นานแล้ว คือ การทำเรื่องขึ้นปก พูดถึงสุดสัปดาห์ก็ชุ่ยแบบนี้มาตลอด ผมคิดว่าไม่ควรซื้อและผมก็ไม่ได้ซื้อบ่อยนะ บางทีไปเจอปก เห็น ขอเช็กหน่อยนะเพราะอยากรู้ ก็ผิดหวังทุกที แต่ถ้าเป็นรายวันมันมีการสอดแทรก ความรู้สึกนึกคิดของกอง บก. อยู่ตลอดเวลา มันไม่ใช่การให้ข่าวความจริงที่ชัดเจน ซึ่งผมก็ผัดผ่อนไปเรื่อย ตั้งแต่ปีที่แล้วว่าน่าจะหยุดซื้อ หยุดให้เงินเขานะ ไม่ได้แปลว่าผมจะหยุดอ่าน ผมก็ไปหาอ่านเป็นครั้งคราวตามเว็บบ้างอะไรบ้าง
Q : แต่ไม่มีทางได้กินเงิน
A :ไม่มีทาง จริงๆ สุดสัปดาห์ผมไม่เคยซื้อมาหลายปีแล้วเพียงแต่ว่าเห็นปกที่ท้าทาย ตงิด ควักมา 40 บาทก็ไปซื้อ ผลสุดท้ายก็ผิดหวัง ก่อนหน้านั้นก็เคยซื้อปก สรยุทธ สุทัศนะจินดา แข่งกันนายกฯ ก็ผิดหวังอีก ไม่ทำสกู๊ป เราเป็นนักข่าวเราทำสกู๊ปเรายังลงทุนมาก ผมคิดว่าการทำแบบนี้มันแสดงถึงคุณภาพต่ำ แล้วก็ไม่เคารพลูกค้า
Q : สิ่งที่ประกาศแสดงความคิดเห็นลงไปเกิดจากเหตุผลหรืออารมณ์มากกว่ากัน ?
A : อันที่ 1 เป็นเรื่องการเลือกข้าง แม้ว่าผมจะอนุโลมว่าเขามีสิทธิ์ทำได้ แต่ว่าถ้าเป็นจุดยืนที่ผมเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่ผมก็จำเป็นต้องอ่าน จะได้รู้ว่าเขาคิดอย่างไรกัน อย่างเครือผู้จัดการก็มีจุดยืนที่แตกต่างกันแต่เขาทำการบ้านกว่าดีกว่า มากกว่าเยอะ พูดง่ายๆ เขามีดาต้าเบส “เวลาที่เขาด่าผม ผมจะบอกให้น่าเคารพ ไม่ได้น่าโกรธนะ” ยกตัวอย่างผมเวลาผมมักจะถูกด่าเพราะไปวิพากษ์วิจารณ์เขา ผมเคยคุยกัน ตอนเขาก่อตั้งใหม่ๆ เขาใช้เซิร์ฟเวอร์ระบบ DOS ตั้งแต่สมัยแรกๆ ฉะนั้นข้อมูลทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรูพร้อมที่จะกดออกมาเขียนใหม่ได้ ผู้จัดการทำงานหนักและเป็นระบบมากกว่ามาก
จึงเป็นเหตุผลผสมอารมณ์ที่ผมหงุดหงิดมาเป็นปีๆ แล้ว ผมคิดว่า ผมไม่แฮปปี้ตั้งแต่เรื่องหุ้นที่แกรมมี่มาซื้อ ทั้งๆ ที่ผมรู้ข้อมูลภายใน ผู้บริหารก็รู้ว่าเขาแอบซื้อหุ้น แอบเทคโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร ผู้ใหญ่ข้างบนของเขาก็รู้ แต่เด็กที่ทำงานไม่รู้ ผู้ใหญ่แสร้งทำเป็นไม่รู้ เมื่อข่าวดังขึ้นมา ผมก็เลยบอกกับคนทำงานระดับล่างๆ ว่า คุณไม่รู้หรือว่าข้างบนเขารู้เรื่องนี้ ฉะนั้นเวลาหนังสือพิมพ์จะเทคไซส์ ต้องอธิบายเรื่องโครงสร้างการถือหุ้นด้วย ผู้อ่านจะได้เรียนรู้ เราจะได้ตัดสินใจในการดำเนินชีวิตอย่างถูก วิจารณ์เขาก็จะได้มีเหตุผลที่ถูก เมื่อเขาเสนอข่าวเอียงมาแบบนี้ เราจะได้รู้ว่าเขาเป็นอย่างนี้ ผมก็ใช้สอนในชั้นเรียนบางครั้ง ดังนั้นโลกปัจจุบันเป็นโลกที่เลือกข้างกันแล้ว คนที่ไม่เลือกข้างเราก็ยินดี ชอบด้วย แต่ส่วนใหญ่มันก็เลือกกันหมด แต่มันไม่บอก
ในอเมริกาอย่างในปีนี้ในการเลือกตั้งไปดูเขาจะประกาศว่าใครเข้าข้างไหน ศัพท์ภาษาฝรั่งเรียกว่า “การภักดีต่อพลเมือง” หนังสือพิมพ์ต้องภักดีกับพลเมืองคนอ่านมากกว่าคนซื้อโฆษณา การภักดีกับพลเมืองไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้ความจริงว่าวันนี้คุณมีใครเป็นเจ้าของ
Q : เป็นอีกครั้งหนึ่งที่พิสูจน์ทฤษฎีว่า แมลงวันสามารถตอมแมลงวันด้วยกันได้ ?
A : โลกมันเปลี่ยนไปแล้ว โลกมันเสรี ผมยังรับได้เลยว่าเขาเอียง ใครๆ ก็เอียงได้ เพราะว่าเป็นสิทธิของมนุษย์ที่ทำสื่อ ตั้งแต่เราทำสื่อคนเดียวในเฟซบุ๊ก จนกระทั่งเขาทำเป็นองค์กรใหญ่ เป็นสิทธิ แต่ว่าต้องโปร่งใสให้คนเขารู้ว่าเราไปทางไหน เท่านั้นเองหน้าไหนโฆษณาก็ต้องบอกว่าโฆษณา อันไหนเป็นพีอาร์ก็ต้องบอกว่าเป็นพีอาร์ อันไหนเป็นนิวส์ข่าวก็ต้องบอก
Q : ฟีดแบ็กหลังจากเขียนลงเฟซบุ๊ก ?
A : ผมก็ไม่นึกว่ามันจะมีอะไรใหญ่โต แต่มันก็แปลกที่มีคนคอมเมนต์กลับมามากมาย เห็นเหมือนผม แสดงว่าเราก็จับชีพจรของสังคมได้นะ ส่วนตัวผมก็ไม่มีอะไร ผมก็เป็นพลเมืองอาวุโสอายุมากเกษียณ ไม่มีงานทำ ก็ใช้เฟซบุ๊กเป็นที่แสดงความคิดเห็นก็สนุกดี เพลินดี ไม่มีใครที่จะทำให้ผมเสียหาย เพราะว่าผมไม่ได้ทำงาน ผมไม่ได้มีงาน ผมไม่ได้ไปหาโฆษณา ผมไม่ได้มีเงินเดือน ผมก็อยู่กับภรรยาลูก 3 คน ไม่มีอะไรจะสูญเสีย
ซึ่งใครจะวิจารณ์กลับผมก็ยินดี แต่ต้องทำการบ้านด้วยไม่อย่างนั้นก็จะไม่น่าเชื่อถือ ถ้าเขาเอาแต่ด่า แสดงว่าเขาไม่ได้ขยันที่จะหาอะไรเลวๆ ของเรามาพูด ซึ่งมีคนตั้งเยอะแต่ผมไม่บอก (หัวเราะ)
Q : วิเคราะห์ไหมว่าการเปลี่ยนแปลงไปไม่เฉพาะแฟนๆ หลายคนก็ยังรู้สึกได้ครั้งนี้เป็นเพราะอะไร ?
A : ผมไม่รู้ข้อมูลภายใน ผมก็คุยกับคนที่ออกมา และคนที่อยู่ข้างในบ้าง ประเด็นพวกนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่ของผมนะ ผมคิดว่าเรื่องใหญ่ก็คือว่าคุณทำงานสื่อต้องลงทุนหน่อยเพราว่าผมซื้อข้อมูลจากคุณ ถึงมันจะ 10 บาทก็ตาม ผมก็จ่าย 10 บาทมาตั้งแต่อายุ 25 ปีแล้วตอนนี้ผม 64 ปีผมจ่ายคุณมาทุกวันไม่เคยขาด ฉะนั้นคุณไม่คิดว่าเงินผมมีค่าอะไรเลยเหรอ คุณมานั่งคิดเอาเองแล้วก็มานั่งเขียนผมก็เขียนได้ ผมทำได้ทุกคืนแหละ ใช้ความเพ้อฝันเอาไม่มีสาระ อย่างนี้ต้องไม่ได้เงิน
สมัยผมเป็น ส.ว. ก็เคยอภิปรายเรื่องมีการเปลี่ยนปกไทม์สแมกกาซีน ภาคแปซิฟิกมาเป็นทักษิณบนปก ผมรู้เพราะว่าผมรับไทม์สมาตั้งแต่เด็กๆ ผมเช็กแล้วว่าปกติปกเอเชียกับแปซิฟิกมันจะเหมือนกัน จริงๆ ปกที่เป็นคุณทักษิณ มันไม่มีสิทธิ์ มันต้องเป็นเรื่องมันสมองของมนุษย์เป็นงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพราะปกแปซิฟิกเป็นแบบนั้น แต่ปกเอเชียเป็นรูปคุณทักษิณ "อันนี้ก็มีแนวโน้มซื้อปกได้ " แต่เราก็ไม่มีหลักฐาน แต่โดยหลัก ซีเอ็นเอ็น ไทม์สวอเนอร์ ฟอร์จูน เป็นสื่อเครือเดียวกัน แล้วผมก็รู้จักกับมาร์เก็ตติ้ง แม้จะเป็นลักษณะผลประโยชน์ที่ซับซ้อน แต่ดีตรงที่สื่อฝรั่งเขายอมรับหมดแล้วว่าทุกๆ อย่างเป็นธุรกิจ ซื้อได้ เพียงแต่ว่าเขาจะคงความเป็นมืออาชีพ แล้วจริยธรรมวิชาชีพเอาไว้ชัดเจน
Q : มองอนาคตของสื่อหันไปจับเอาความฉาบฉวยอย่างไร ?
A : สังคมประชาชนต้องเรียนวิเคราะห์สื่อให้ถูกว่าอันจริงหรือไม่จริง แต่อย่างไรเราก็ต้องรับสื่อ แต่มันต้องเสียเงินซื้อมันก็ต้องคิดให้ละเอียด เพราะว่า เราเสียเงิน สมัยนี้เขาจึงมีวิชารู้ทันสื่อ ที่สอนในมหาวิทยาลัย เราจะต้องรู้เท่าทัน ถ้าไม่เท่าทัน เราจะไม่ได้ความจริง แล้วบางทีเราก็ไม่รู้ด้วยว่าไอ้ที่เราคิดว่าจริงมันไม่ใช่ เป็นสังคมที่ซับซ้อนมาก สังคมข้อมูล ที่มันมากมหาศาล ผมคิดว่าสื่อคละกันอยู่ในสังคมไทย ถ้าเราวิเคราะห์เป็นกรุ๊ป เราก็จะรู้ว่าสื่อไหนที่เราเชื่อถือได้ บางทีสื่อเดียวกันเราก็จะสามารถหาความจริงที่อยู่ในนั้น
เพียงแต่ว่าในยามที่เศรษฐกิจที่เราจะต้องจัดการกับงบประมาณส่วนตัวต้องรู้ ผมเสียเดือนละเกือบ 1 พันบาทซื้อหนังสือพิมพ์เนี่ย อย่างอื่นหนังสือเข้ามารวมๆ แล้วก็หลายพันบาทก็ต้องลดลงบ้างในวัยที่อนาคตไม่แน่นอน
Q : การคิดออกมาดังๆ เป็นการประกาศเลิกซื้อคนเดียวหรือชักชวนประชาชนให้เลิกซื้อด้วย ?
A : ไม่ได้ชักชวนเพียงแต่ว่าใช้เฟซบุ๊กแสดงความเห็นส่วนตัว ไม่ได้จัดการระดมมวลชนไม่ใช่ ผมไม่ซื้อ แต่ถ้ามันมีผลกระทบในทางสังคมในภาพรวมก็ถือว่าเป็นอารมณ์ที่เขาคิดมาก่อนผมด้วยซ้ำไป โดนตำหนิว่าช้าไปซะด้วยซ้ำ
Q : กรณีนี้เกี่ยวกับการชอบหรือไม่ชอบคนเสื้อแดง ?
A : ไม่เกี่ยว ผมเป็นนักรัฐศาสตร์โดยการเรียนหนังสือมา เคยสอนด้วย ใครจะสีไหนมันเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล แล้วก็ผมตำหนิพวกแดงอย่างเดียวที่ไม่กล้าจะรวมกลุ่มสร้างพรรคของตัวเอง ไม่กล้าแสดงอุดมคติทางการเมืองที่มันชัดเจน จะเป็นมาร์กซิสต์ เลนิน หรือจะเป็นสาธารณรัฐ หรือจะไม่เอากษัตริย์คุณจะต้องกล้าที่จะตั้งพรรค ที่ผ่านมาเราเห็นแล้วว่าพวกเสื้อแดงยังอ่อนแออยู่ ส่วนตัวผมก็ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับชอบหรือไม่ชอบเสื้อแดง ก็นั่งวิเคราะห์ความผันแปรของสังคมไป เพราะว่าผมไม่ใช่กลุ่มการเมือง
เรดพาวเวอร์ผมก็ซื้ออ่าน คือผมต้องการที่จะรู้ว่าคนที่จะมาเปลี่ยนสังคมที่ผมจะทิ้งเอาไว้ให้ ยังไงผมก็ตายไปก่อนอยู่แล้ว เขาคิดอย่างไร อย่างไรลูกของผมก็ต้องโตมาในยุคที่บ้านเมืองจะเปลี่ยนแปลงเราจะได้เตรียมรับว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร คุณจะเปลี่ยนอย่างไรก็ได้ แต่ถ้าผมจะตายผมจะต้านในแนวทางของผมก็เท่านั้นเอง แต่ว่ามันเป็นพลวัต หรือพลังของสังคม ที่จะต้องต่อสู้กันไปเรื่อยๆ เป็นเรื่องปกติ
Q : ปัจจุบันคุณบอกว่าเสียเงินซื้อหนังสือ 15 บาท เพียงแค่เล่มเดียว ที่พูดต้องการสื่อความหมายอะไรเป็นพิเศษไหม ?
A : สมัยผมทำงานมีเงินเดือนทำทีวี ก็เสียเงินซื้อวันละ 5-6 ฉบับ แต่ว่าตอนนี้เราไม่มีอะไร แล้วที่สำคัญอินเทอร์เน็ตก็มีเยอะแยะ ที่จริงไม่ซื้อก็ได้ เพราะมีอินเทอร์เน็ตได้ แต่หนังสือพิมพ์มันดีตรงที่มันมีบทความที่บางทีเราเก็บมันเอาไว้ได้ แล้วได้นั่งคิดได้นานๆ ได้จับกระดาษมันรู้สึกเช้าๆ อันนี้มันสำคัญอยู่ไม่เอามือพลิกกระดาษในแต่ละเช้ามันไม่ได้ ผมคิดว่าต้องมี แต่ถ้ามากเกินไปตังค์เราไม่พอก็ต้องบันยะบันยังบ้าง
Q : อยากจะแนะนำอะไรกับสื่อที่คุณวิจารณ์ไหม ?
A : ผมคิดว่าที่สุดแล้วพวกเขาก็ต้องจัดการปรับอุดมการณ์ภายในของตัวเองอยู่ จะปล่อยให้ชีวิตที่เริ่มต้นมาดีแล้ว จะเสียหายไปความคิดทางการเมืองที่มันไม่เป็นอิสระไม่ได้ ดังนั้นเขาจะต้องทำสงครามภายในกัน ส่วนคนดูคนอ่านไม่สำคัญ เพราะว่าถ้าคุณทำไม่ดี เขาไปซื้อเล่มอื่นได้
แต่สิ่งที่ผมอยากจะให้สังเกตก็คือ หนังสือพิมพ์หลายฉบับในอเมริกา ยุโรปที่ปิดตัวเมื่อไม่มีสาระให้สาธารณชน ก็ไม่มีคนซื้อ เมื่อไม่มีคนซื้อเขากก็จะพึ่งช็อปปิ้งมอลล์หรือว่าการโฆษณาตลาดร้านค้า ห้างสรรพสินค้า จากสินค้า เสร็จแล้วคนผู้ลงโฆษณาก็จะพบว่าคนซื้อน้อย มันก็ฝ่อไปเอง ในที่สุดในอเมริกาหลายฉบับ เหลือแต่เว็บไซต์ ฉบับล่าสุด ซีแอตเทิล โพสต์ อินเทลิเจนเซอร์ (Seattle Post-Intelligencer) เป็นหนังสือดีของรัฐวอชิงตัน แต่มันก็เจ๊งเพราะว่ามันไม่ดูแลคนอ่าน มันดูแลเฉพาะคนลงโฆษณา
Q : พูดได้ไหมว่า วันนี้ประชาชนตื่นและรู้เท่าทันสื่อแล้ว ?
A : เขาก็เติบโตตามกระแสสื่อโลกาภิวัตน์ ฉะนั้นประชาชนการศึกษาดีขึ้น การศึกษาทางด้านสื่อดีขึ้นเสมอ ที่ผมทำไม่ได้เป็นการสั่งสอน แต่เป็นคะแนนหนึ่งที่ถอนไม่ไว้วางใจ ก็อาจจะปลุกให้กับคนอื่นมานั่งคิดต่อด้วย ซึ่งแทนที่จะโกรธผม รู้จักกันผมเนี่ยอาจารย์จากเด็กจุฬาฯ สมัยบรรจุใหม่ๆ ผมเอาต้นฉบับสถาบันเอเชียไปนั่งคุยกันแถวริมคลองหลอด แถวเฟื่องนคร ตั้งแต่เขายังอยู่ที่ซอมซ่อในสมัยนั้น ส่วนตัวไม่ได้มีอะไรยังไม่มีใครได้โทรมาว่าอะไร
Q : สุดท้ายก็มีเสียงตอบโต้ทันทีว่าอาจารย์เป็นพวกสลิ่ม ?
A : ใช่คนว่าผมแบบนั้น ผมก็ถามว่าแปลว่าอะไร อ่านแล้วงงๆ มันซับซ้อนมาก เพราะเงื่อนไขเยอะ ผมบอกว่าอย่างนั้นก็เป็นไม่ได้หรอก แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ ถ้าผมตำหนิอะไร ซึ่งคิดจะรบแล้วชนะมันต้องมีอุดมการณ์ ถ้าไม่มีอุดมการณ์ก็แพ้เสมอ มันไม่มีอะไรเป็นเรื่องยึดเหนี่ยว อย่างเสื้อแดงนี่ผมไม่ปรากฏว่าเขากล้าหาญที่จะประกาศอุดมการณ์ อ้างว่ามีๆ บอกให้เขียนมาสักเล่มหนึ่งก็ไม่เขียน ถ้าจะสู้ก็ต้องประกาศตัว ไม่เช่นนั้นสงครามก็ไม่เกิด ได้แต่แอบด่า ใต้ดินก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ถ้าประกาศชัดเจนจะได้รู้ว่าสู้อยู่กับใคร ผมว่าจุดอ่อนเสื้อแดงที่อ่อนตลอดไป คือว่าไม่ประกาศอุดมการณ์พอไม่ประกาศก็หาพวกยาก เสื้อแดงกับคุณทักษิณ มันคนละอุดมการณ์ ผมคิดว่าเสื้อแดงอ่อนแอ
เพราะคุณทักษิณ เขาเป็นนายทุน ทำมาหากินเขาปรับตัวได้ทุกครั้ง เขาพร้อมจะพูดอะไรที่พร้อมจะทำให้เขาไปรอดได้ แต่ถ้าว่ามีอุดมการณ์ทางเศรษฐกิจ มีปรัชญาทางการเมืองอะไร คุณทักษิณเป็นคนที่ไม่กล้าหาญจะมากลับมาเผชิญหน้ากับกฎหมาย เมื่อไม่กล้ามาก็ไม่ได้มา เพราะไม่มีใครห้าม แต่เขาไม่กลับมาเอง