"เหยื่อ" ไม่ใช่ "ผู้ร้าย"

มติชน 17 มกราคม 2555 >>>


กรณีคณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ที่มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน พิจารณาอนุมัติวงเงินเยียวยาแก่ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง
ผู้เสียชีวิตจะได้เงินรวมทั้งสิ้น 7.75 ล้านบาท
แบ่งเป็นเยียวยาผู้เสียชีวิต 4.5 ล้านบาท ค่าครอบครัวของผู้เสียชีวิตเสียใจ 3 ล้านบาท ค่าทำศพ 2.5 แสนบาท
ทั้งนี้ หลังจาก ครม. เห็นชอบก็เกิดปฏิกิริยาขึ้น
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง เห็นด้วยกับการเยียวยา แต่ต้องกระจายไปยังกรณีอื่นด้วย โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ถามหาความเท่าเทียมกับเหยื่อจากเหตุการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
อีกหลายเสียงบอกว่า ไม่ควรจ่ายเงินให้มากขนาดนี้ เพราะกระทบกับขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้พลีชีพ และคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้
อีกหลายเสียงก็บอกว่า ไม่ควรจ่าย เพราะเกรงว่าการชุมนุมครั้งหน้า คนจะมาชุมนุมเพราะหวังผลแบบเดียวกัน
สรุปได้ว่ากรณีเงินเยียวยา มีกลุ่มที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย
กลุ่มเห็นด้วย มองว่า ประชาชนที่เสียชีวิตและพิการเป็น "เหยื่อ" จากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง
กลุ่มไม่เห็นด้วย มองว่า ประชาชนที่เสียชีวิตและพิการเป็น "ผู้ร้าย"
ความเห็นทำนองนี้มีมาตั้งแต่เหตุการณ์ความรุนแรงผ่านพ้นไป แต่วันนี้รัฐบาลเห็นว่า ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเป็น "เหยื่อ" มากกว่า "ผู้ร้าย"
และเห็นว่า เหยื่อเหล่านั้นต้องได้รับการชดเชย และต้องเป็นการเยียวยาอย่างสมน้ำสมเนื้อที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วย
การตัดสินใจของรัฐบาล ทำให้เหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองรู้สึกดีขึ้น
ตอนนี้ก็มาลุ้นล่ะว่า สำหรับผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้นั้น รัฐบาลมองเหตุการณ์เหล่านั้นเป็นอะไร และใครควรจะได้รับการเยียวยาในฐานะ "เหยื่อ" กันบ้าง
เชื่อว่า ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ที่รับผิดชอบ น่าจะตอบคำถามได้
ลองคิดแบบฝันๆ ไปว่า ถ้ารัฐบาลเชื่อว่า "ชีวิต" มีความสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด
สำคัญกว่าเงิน สำคัญกว่าอำนาจ
ต่อไปเมื่อเกิดเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองถึงขั้นขับไล่รัฐบาล แทนที่รัฐบาลจะดื้อแพ่งจนการชุมนุมยกระดับสู่ความรุนแรง
รัฐบาลอาจคิดถึง "ชีวิต" ของผู้ชุมนุม และยอมยุติเหตุการณ์ก่อนจะเกิดความรุนแรงด้วยการยุบสภาหรือลาออก
หรือกรณีเกิดความรุนแรงถึงขั้นต้องใช้กำลังเข้าปราบปราม หากฝ่ายปฏิบัติการคิดถึง "ชีวิต" ของผู้ชุมนุม
คิดว่า คนเหล่านี้เป็น "เหยื่อ" ไม่ใช่ "ผู้ร้าย"
บางทีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อาจจะรอบคอบขึ้น
การจับกุมกลุ่มผู้ชุมนุมที่ตากใบ คงไม่มีใครต้องตายเพราะขาดอากาศหายใจ
หรือถ้าพลาดพลั้งไป ผู้เสียชีวิตหรือผู้พิการจากการพลาดพลั้งก็ต้องได้รับการเยียวยาด้วยเงินจำนวนมากๆ แบบนี้แหละครับ
เพราะพวกเขาเป็น "เหยื่อ" ไม่ใช่ "ผู้ร้าย"
ส่วนใครที่ศาลตัดสินว่าเป็น "ผู้ร้าย" ไม่ใช่ "เหยื่อ" อันนี้ก็ต้องยอมรับกันว่าไม่ได้รับการเยียวยา
ทั้งหมดนี้พูดแต่เฉพาะประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่สละชีพก็ควรจะมีเกณฑ์แยกต่างหาก โดยเกณฑ์นั้นต้องดีกว่าเกณฑ์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน