“เนื่องจากผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติ แต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในทางการเมือง หากผู้ต้องหา และจำเลยนั้นไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวรัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่
เรือนจำปกติเป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต”
ข้อเสนอในรายงานครั้งที่ 2 ของ คอป.
วานนี้ (17 ม.ค. 55) ผู้ต้องขัง 47 คน เป็นชาย 46 คน และหญิง 1 คน เดินทางมายังเรือนจำแห่งใหม่ ‘เรือนจำชั่วคราวหลักสี่’ โดยมีญาติผู้ต้องขัง กลุ่มนักกิจกรรม แกนนำ นปช. รวมถึงผู้สื่อข่าวไปรอทำข่าวกันอย่างหนาแน่น
แนวทางนี้รัฐบาลดำเนินการตามที่คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ได้มีข้อเสนอเมื่อราวปลายปีที่แล้ว ซึ่งหน่วยงานรัฐอย่างกรมราชทัณฑ์เป็นเจ้าภาพหลักในการหาหลักเกณฑ์ในการดำเนินการรูปธรรม
หลังเหตุการณ์หลังการสลายการชุมนุมปี 2553 มีผู้ถูกจับกุมคุมขังจำนวนมากกว่าพันคนทั่วประเทศ (ข้อมูล ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เม.ย.- พ.ค.53 หรือ ศปช.) โดยส่วนใหญ่มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวนมากถูกขังเพียง 1-2 เดือน อีกไม่น้อยออกจากเรือนจำไปแล้วเพราะอยู่จนครบตามคำพิพากษา 6 เดือน ถึง 1 ปี บางส่วนสามารถประกันตัวได้ ขณะที่อีกหลายกรณีศาลพิพากษายกฟ้องทั้งที่ติดคุกมานาน 6 เดือนถึงปีครึ่ง จนนำมาสู่ข้อเสนอของคอป.ที่ระบุชัดเจนให้เยียวยาบุคคลที่ศาลยกฟ้อง
กระทั่งกรมคุ้มครองสิทธิฯ กระทรวงยุติธรรมระบุว่าปัจจุบันเหลือผู้ต้องขัง ‘เสื้อแดง’ อันมีเหตุสืบเนื่องจากการเมืองที่อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศราว 57 คน และทางกรมได้รับงบประมาณมาช่วยดำเนินการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทั้งหมดอีกครั้งในวงเงิน 43 ล้านบาท
วันเดียวกันกับการย้ายผู้ต้องขังไปเรือนจำชั่วคราวแห่งใหม่ กลุ่ม ‘เพื่อนนักโทษการเมือง’ รายงานในเฟซบุ๊คว่า ยังมีรายชื่อผู้ต้องขังที่ตกหล่อนอีกอย่างน้อย 5 คน บางรายทราบข่าวอยู่ก่อนแล้ว่าจะไม่ได้ย้าย เนื่องจากเจ้าหน้าที่แจ้งว่าเป็นคดีเด็ดขาดจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์การย้าย ทั้งนี้ผู้ต้องขัง 5 รายดังกล่าวได้แก่
1. นายพิทยา แน่นอุดร เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ
2. นายจรูญ บุญเรือง เรือนจำจังหวัดนนทบุรี
3. นายสมนึก แช่เฮง เรือนจำจังหวัดนนทบุรี
4. นายวัลลภ พิธีพรหม เรือนจำจังหวัดเชียงราย
5. นายแดง ปวนมูล เรือนจำจังหวัดเชียงใหม่
ขณะที่ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 นั้นยังไม่ได้รับการโยกย้าย ทางราชทัณฑ์ให้เหตุผลว่ากำลังรอคำตอบจาก คอป.ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นเรื่องว่า จะนับรวมคดีเหล่านี้ด้วยหรือไม่ ทั้งที่ในข้อเสนอของ คอป.นั้น ระบุหมายรวมอย่างชัดเจนถึงผู้ต้องขังกลุ่มนี้ [1]
ยังไม่นับรวมปัญหาผู้ต้องขังในคดีหมิ่นฯ ถูกทำร้ายในเรือนจำเมื่อแรกเข้า จนกระทั่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนต้องเข้าไปตรวจสอบและคลี่คลายปัญหา อันเป็นที่มาให้หลายกลุ่มเรียกร้องตั้งแต่ช่วงแรกๆ ให้มีการแยกผู้ต้องขังคดีการเมืองออกจากผู้ต้องขังคดีอาญาทั่วไป
........................................
หลังจากนอนเรือนจำชั่วคราวได้ 1 คืน วันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่จาก ศปช. ได้เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในเรือจำแห่งใหม่และเปิดเผยว่า ระเบียบปฏิบัติของที่นี่เหมือนเรือนจำปกติ ซึ่งต้องมีการเขียนใบเยี่ยมและพูดคุยผ่านโทรศัพท์ มีกระจกใสกั้น เหมือนในเรือนจำเดิม แต่เวลาในการเยี่ยมอาจยืดหยุ่นกว่า
พินิจ จันทร์ณรงค์ ผู้ต้องขังข้อหาเผาเซ็นทรัลเวิร์ลและข้อหาปล้นทรัพย์ภายในห้าง (ข้อหาหลังศาลยกฟ้องแล้ว) เล่าว่า เรือจำแห่งนี้มี 4 ชั้น สามารถเปิดให้บริการได้เพียงชั้น 3 ซึ่งผู้ต้องขังชาย 46 คนจะแบ่งกันนอนภายใน 2 ห้องใหญ่ ขณะนี้ได้รับแจกผ้าห่มคนละผืน หมอนคนละใบ ภายในห้องมีพัดลม และมีห้องโถงกลางสำหรับเดินไปมาได้ แต่ไม่มีพื้นที่ภายนอกเหมือนเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่เคยอยู่ ห้องน้ำยังคงเป็นห้องแบบเดียวกับเรือนจำ ซึ่งไม่มีประตู มีผนังกั้นเพียงแค่นั่งขับถ่ายแล้วเห็นหัวโผล่ออกมา ส่วนอาหารนั้นก็เป็นอาหารที่ส่งมาจากเรือนจำ ที่นี่ไม่มีร้านค้าหากผู้ต้องขังจะซื้อของก็จะต้องสั่งไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งของจะเดินทางมาถึงในวันรุ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ญาติสามารถฝากเงินเข้าบัญชีที่นี่ได้โดยตรง
ถามว่าการได้อยู่รวมกันของผู้ต้องขังในคดีที่มูลเหตุจูงใจเหมือนๆ กันนั้นส่งผลดีหรือไม่ พินิจบอกว่า ยังไม่ได้คุยกับเพื่อนผู้ต้องขังมากนัก และรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรจะคุยกันมาก ที่เป็นประโยชน์หน่อยก็จะเป็นการช่วยกันดูแลผู้ต้องขังจากมุกดาหารที่มีอาการเครียดจัด มีสภาพป่วยทางจิต ซึมเศร้า และเคยมีประวัติพยายามฆ่าตัวตาย กับผู้ต้องขังที่พิการตาบอดสองข้าง
“ที่ผู้ต้องขังเขาอยากได้มากที่สุดตอนนี้คือ การดูแลครอบครัวพวกเขาซึ่งส่วนใหญ่ยากจน และยิ่งลำบากเมื่อเสาหลักมาติดคุก ที่ผ่านมาก็ไม่มีใครดูแล” พินิจกล่าว
ส่วน ปัทมา มูลนิล ผู้ต้องขังหญิงจากอุบลฯ ที่เป็นผู้หญิงคนเดียวนั้นถูกกันไว้อีกฟากตึกเพื่อรอให้ชั้น 2 ปรับปรุงเสร็จแล้วจึงจะย้ายลงมาชั้นสอง
ปัทมา อายุ 25 ปี เป็นสาวผิวขาวร่างใหญ่ ตัดผมสั้นเกรียนเหมือนนักโทษชาย เธอเล่าเรื่องราวของเธอพร้อมเหงื่อที่ไหลโทรมกายตลอดระยะเวลาเยี่ยม โดยระบุว่า ข้อกังวลของเธอในตอนนี้คือ การจะถูกย้ายลงไปชั้น 2 ตามกฎของเรือนจำ ซึ่งนั่นหมายความว่าเธอจะต้องอยู่คนเดียวกับเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์หญิง ตลอด 24 ชั่วโมง ขณะที่ถ้าอยู่ชั้น 3 แม้ถูกกันให้อยู่คนละฟากตึกกับผู้ชาย แต่ยังได้เห็นคนเดินไปเดินมา และได้ยินเสียงคนพูดคุยกันบ้าง
“มันเหงามาก ไม่รู้หนูจะไหวไหม มันเหงาจนบ้าได้ บางทีเรื่องศักดิ์ศรีก็อาจต้องเอาไว้ทีหลัง ถ้าไม่ไหวจริงๆ อาจขอย้ายกลับอุบลฯ”
ปัทมาบรรยายความรู้สึกอีกว่า การได้แยกส่วนออกเป็น “นักโทษการเมือง” อาจสำคัญกับเธอในฐานะที่จะบอกสังคมว่าคนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร และต้องคดีจากผลสืบเนื่องทางการเมือง แต่ปัญหาคือเธอปรับตัวกับเรือนจำที่อุบลราชธานีได้แล้ว ที่นั่นมีเพื่อนๆ มากมาย มีญาติพี่น้องคอยเยี่ยมและนำอาหารมาให้ทุกวันอังคารและวันศุกร์
“หนูเป็นคนเดียวที่จะไม่ลงชื่อมา แต่คู่คดี พี่ผู้ชายอีกสามคนเขาบอกว่า ลงเรือลำเดียวกันแล้ว จะทิ้งกันได้อย่างไร ก็เลยลองมาดู”
ปัทมาถูกศาลอุบลฯ ตัดสินจำคุก 33 ปี 12 เดือน ในข้อหาร่วมกันวางเพลิง (ศาลากลางจังหวัด) และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เธอเล่าว่าในวันนั้นซึ่งเป็นวันสลายการชุมนุมที่ราชประสงค์ คนเสื้อแดงในจังหวัดอุบลฯ ไปรวมตัวกันประท้วงที่ศาลากลางจังหวัด มีการเผายาง ปราศรัย และกำลังจะสลายตัว แต่เห็นทหารอาวุธครบมือออกมาจากศาลากลาง กลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังโกรธแค้นทหารจึงไม่ยอมสลายตัว ประกอบกับมีการยิงปืนออกมาจากศาลากลางจนทำให้มีคนได้รับบาดเจ็บ เหตุการณ์จึงเริ่มโกลาหล กลุ่มชาวบ้านบุกเข้าไปในศาลากลางเพื่อตามหาคนยิง เมื่อไม่พบจึงถอยออกมา ไม่กี่นาทีถัดจากนั้นไฟก็เริ่มลุกไหม้
เธอตั้งข้อสังเกตว่า หลักฐานที่เจ้าหน้าที่ใช้คือภาพถ่ายของเธอในที่เกิดเหตุ ซึ่งหากเธอทำจริงเธอคงไม่เปิดเผยใบหน้าและไปยืนอยู่นานสองนานให้ถ่ายรูป คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์
สำหรับประวัติส่วนตัว ปัทมาเป็นลูกคนสุดท้ายของครอบครัวแม่ค้าขายอาหารตามสั่ง วันที่เธอถูกตัดสิน แม่ของเธออาการย่ำแย่ เธอบอกกับแม่ว่าหากแม่มาเยี่ยมแล้วร้องไห้ก็ไม่ต้องมาอีก จากนั้นแม่จึงเลิกร้องไห้เพื่อจะได้มาเยี่ยมเธอ
ก่อนจะมาเป็น ‘คนเสื้อแดง’ เธอเคยร่วมอุดมการณ์กับกลุ่ม ‘คนเสื้อเหลือง’ และติดตามข่าวสารผ่านช่องเอเอสทีวีมาโดยตลอดแม้จะไม่มีโอกาสเดินทางมาร่วมชุมนุม จนกระทั่งมีการยุบพรรคและเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เธอเริ่มตั้งคำถามกับขบวนหลังจากนั้น เพราะถือว่าผลเลือกตั้งออกมาเป็นอย่างไรก็ควรยอมรับ จากนั้นเธอจึงติดจานดาวเทียมที่มี ‘ช่องเสื้อแดง’ ก่อนที่ความคิดจะค่อยๆ เปลี่ยนไป
“เราคิดเองได้นี่ว่าความจริงคืออะไร ดูสองช่องเปรียบเทียบกัน แล้วก็เริ่มรู้สึกไม่เห็นด้วย ยิ่งมายึดสนามบินอะไรอีก ก็จบเลย” ปัทมาว่า
เย็นวันเดียวกัน นางปราณี ด่านวัฒนานุสรณ์ ภรรยาของนายสุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือ แซ่ด่าน ผู้ต้องหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แจ้งข่าวว่า สุรชัยรู้สึกผิดหวังอย่างมากที่ผู้ต้องขังในข้อหามาตรา 112 ไม่ได้รับการพิจารณาย้ายไปเรือนจำชั่วคราว
“แกบอกว่า ที่แกทำมาตลอดชีวิต ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรืออย่างไร” นางปราณีกล่าว
ติดตามเรื่องเล่า ชีวิตในเรือนจำไทย ได้ในรายงานฉบับหน้า
....................................
[1] รายชื่อจากเว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ
รายชื่อผู้ต้องขังประกอบไปด้วยรายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
1. นายเอนก สิงขุนทด
2. ส.ต.ต.บัณฑิต สิทธิทุม
3. นายเอกชัย มูลเกษ
4. นายเพชร แสงมณี
5. นายสายชล แพบัว
6. นายประสงค์ มณีอินทร์
7. นายโกวิท แย้มประเสริฐ
8. นายพินิจ จันทร์ณรงค์
9. นายคำหล้า ชมชื่น
รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำธนบุรี
10. นายชาตรี ศรีจินดา
รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำมหาสารคาม
11. นายคมกฤษ คำวิแสง
12. นายภานุพงษ์ นวลเสน
13. นายสมโภชน์ สีกากุล
14. นายอุทัย คงหา
15. นายไพรัช จอมพรรษา
16. นายมนัส วรรณวงศ์
17. นายสุชล จันปัญญา
18. นายชรัญย์ เอกสิริ
19. นายเดชอดุลย์ เดชบุรัมย์
รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำอุดรธานี
20. นายอาทิตย์ ทองสาย
21. นายบัวเรียน แพงสา
22. นายกิตติพงษ์ ชัยกัง
23. นายวันชัย รักสงวนศิลป์
24. นายเดชา คมขำ
รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำอุบลราชธานี
25. น.ส.ปัทมา มูลมิล
26. นายธีรวัฒน์ สัจสุวรรณ
27. นายสนอง เกตุสุวรรณ
28. นายสมศักดิ์ ประสานทรัพย์
รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำมุกดาหาร
29. นายดวง คนยืน
30. นายทวีศักดิ์ แข็งแรง
31. นายณัฐวุฒิ พิกุลศรี
32. นายไมตรี พันธ์คูณ
33. นายนพชัย พิกุลศรี
34. นายพระนอม ก้นนอก
35. นายวิชัย อุสุพันธ์
36. นายวินัย ปิ่นศิลปะชัย
37. นายสมัคร ลุนริลา
38. นายวิชิต อินตะ
39. นายประครอง ทองน้อย
40. นายแก่น หนองพุดสา
41. นายทิณวัฒน์ เมืองโคตร
รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำเชียงใหม่
42. นายนพรัตน์ แสงเพชร
43. นายประยุทธ์ บุญวิจิตร
44. นายบุญรัตน์ ไชยมโน
45. นายสมศักดิ์ อ่อนไหว
46. นายพะยอม ดวงแก้ว
รายชื่อผู้ถูกคุมขังในเรือนจำอำเภอธัญบุรี
47. ไม่ทราบชื่อ
[2] ข้อเสนอส่วนหนึ่งในรายงานความคืบหน้าคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ครั้งที่ ๒ (๑๗ มกราคม ๒๕๕๔ – ๑๖ กรกฎาคม ๒๕๕๔)
“ด้วยเหตุนี้ คอป. จึงมีความเห็นว่าการดำเนินคดีอาญาในคดีความผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ ความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามมาตรา ๒๑๕ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และคดีที่เกี่ยวเนื่อง ซึ่งเป็นช่วงเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองทั้งหลายทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ รวมทั้งคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามมาตรา ๑๑๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ล้วนเป็นเรื่องที่มีลักษณะเกี่ยวเนื่องกับความขัดแย้งทางการเมือง รัฐบาลสมควรดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีในความผิดดังกล่าว ดังนี้
๕.๓.๑ เร่งรัดตรวจสอบให้ชัดเจนว่าการแจ้งข้อหาและการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาและจำเลยสอดคล้องกับพฤติการณ์แห่งการกระทำหรือไม่ และทบทวนว่ามีการตั้งข้อหาที่รุนแรงเกินสมควรหรือการดำเนินคดีที่พยานหลักฐานอ่อนไม่เพียงพอต่อการพิสูจน์ความผิดหรือไม่
๕.๓.๒ ดำเนินการอย่างจริงจังเพื่อให้มีการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย เพื่อให้ผู้ต้องหาและจำเลยสามารถต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวอันเกิดจากการถูกจำกัดเสรีภาพ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ต้องหาและจำเลยว่ามีเหตุที่จะหลบหนี เหตุที่จะทำลายพยานหลักฐาน หรือเหตุที่จะเป็นอันตรายต่อสังคมหากได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือไม่ หากไม่มีสาเหตุดังกล่าว ให้ยืนยันหลักกฎหมายในการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว และในการปล่อยชั่วคราวนั้น แม้ตามมาตรา ๑๑๐ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จะไม่เรียกร้องหลักประกันก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติขององค์กรในกระบวนการยุติธรรมยังมีการกำหนดให้มีหลักประกันอันเป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายเสมอมานั้น ทำให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างมาก กล่าวคือ ได้เป็นช่องทางให้ “นายประกันอาชีพ” ซึ่งเป็นองค์กรเถื่อนในกระบวนการยุติธรรมฉวยโอกาสเข้าไปแสวงหาประโยชน์กับสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตลอดมา และ “บริษัทประกันภัย” ซึ่งก็เข้าไปแสวงหาประโยชน์กับสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
ทำนองเดียวกัน ซึ่งการปล่อยให้ “บริษัทประกันภัย” เข้าไปแสวงหาประโยชน์ดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาล ในยุคสมัยหนึ่งที่มีความไม่เข้าใจหลักกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่การที่จะแก้ไขปัญหาที่ ต้นเหตุคือความเข้าใจหลักกฎหมายที่ถูกต้องที่ยังไม่อาจกระทำได้ในขณะนี้ เพราะปัญหาเกี่ยวข้องกับทั้งการศึกษากฎหมายและทัศนคติของผู้ใช้กฎหมายและอื่น ๆ นั้น ในกรณีที่ศาลอนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราวแต่กำหนดให้มีหลักประกันด้วยนั้น ก็ชอบแล้วที่รัฐบาลจะจัดหาหลักประกันดังกล่าวให้แก่ผู้ต้องหาและจำเลยทุกคนที่ไม่สามารถจัดหาหลักประกันได้ตามทางปฏิบัติที่ผ่านมา อนึ่ง ต้องพึงตระหนักว่าการที่ผู้ต้องหาและจำเลยถูกตั้งข้อหาร้ายแรงนั้นไม่ใช่ข้ออ้างที่จะไม่อนุญาตให้มีการปล่อยชั่วคราวตามกฎหมาย
๕.๓.๓ เนื่องจากผู้ต้องหาและจำเลยมิใช่เป็นผู้ร้ายหรืออาชญากรดังเช่นในคดีอาญาตามปกติแต่เป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอันมีมูลเหตุเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในทางการเมือง หากผู้ต้องหาและจำเลยนั้นไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว รัฐบาลสมควรจัดหาสถานที่ในการควบคุมที่เหมาะสมที่มิใช่เรือนจำปกติเป็นสถานที่ควบคุมผู้ต้องหาและจำเลย ดังเช่นที่เคยใช้กับนักโทษทางการเมืองในอดีต
๕.๓.๔ เนื่องจากคดีอาญาเหล่านี้เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำเนินอยู่ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมาโดยผู้กระทำผิดมีมูลเหตุจูงใจในทางการเมือง และปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมีรากเหง้าที่สำคัญมาจากสภาพสังคมไทยอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน (Transition) การนำเอาหลักความยุติธรรมทางอาญา (Criminal Justice) ที่มีเพียงมาตรการการฟ้องคดีอาญาในเชิงลงโทษมาใช้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง จึงไม่เหมาะสมกับสภาพของปัญหา ดังนั้น จึงสมควรที่จะนำเอาหลักวิชาการเกี่ยวกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transitional Justice) และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) มาศึกษาและปรับใช้ เพื่อนำหลักการและแนวทางของหลักวิชาการดังกล่าว ตลอดจนประสบการณ์ของต่างประเทศที่เคยเผชิญความขัดแย้งอย่างรุนแรงมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างที่มีการศึกษาถึงแนวทางในการนำมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสถานการณ์ความขัดแย้งในประเทศไทยมาใช้ สมควรขอความร่วมมือให้อัยการชะลอการดำเนินคดีอาญาเหล่านี้ไว้ โดยยังไม่พิจารณานำคดีขึ้นสู่ศาล โดยรอให้มีข้อมูลที่ครบถ้วนในทุกๆ ด้าน ทั้งข้อมูลที่ถูกต้องและเชื่อถือได้เกี่ยวกับพฤติการณ์แห่งคดี ข้อมูลในภาพรวมของสาเหตุของปัญหา ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางในด้านวิชาการเกี่ยวกับมาตรการทางกฎหมายในกรอบของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน และความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ เพื่อให้อัยการมีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการประเมินความเหมาะสมทางด้านประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งมาตรการทางอาญาที่เหมาะสมก่อนการสั่งคดี”