ความคืบหน้าประชาธิปไตยในตุรกี: อดีต ผบ.สูงสุดของตุรกีถูกจับกุมเนื่องจากเกี่ยวข้องกับแผนล้มรัฐบาล

(เกริ่นนำ: เหตุที่เว็บไซต์ นปช. แดงทั้งแผ่นดินแห่งนี้มีเนื้อหาข่าวความคืบหน้าประชาธิปไตยในต่างประเทศ เนื่องจากว่าเราเห็นว่า เส้นทางพัฒนาประชาธิปไตยในประเทศไทยและทั่วโลกนั้นเป็นเส้นทางเพื่อความผาสุขของปวงชนทั่วโลกไม่ว่าจะอยู่ในประเทศใด การได้รับรู้เรื่องราวการต่อสู้ของพี่น้องประชาชนทั่วโลกจะทำให้พวกเราเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน และทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวต่างๆที่อาจเป็นประโยชน์ต่อการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย)

เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา รัฐบาลพลเรือนของนายกรัฐมนตรี รีเซป ทัยยิป เออร์โดกัน (Recep Tayyip Erdogan) แห่งพรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development Party) ซึ่งเป็นพรรคนิยมอิสลามสายกลาง ได้ทำการจับกุม พลเอกเมห์เมต อิลเกอร์ บัสบุก (General Mehmet İlker Başbuğ) อดีตเสนาธิการทหารสูงสุดของตุรกีซึ่งเกษียณอายุไปเมื่อ พ.ศ. 2553 สืบทราบว่าเขาเกี่ยวข้องกับแผนการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนของเครือข่ายเออร์เกเนคอน (Ergenekon network) ซึ่งประกอบด้วยทหารทั้งในและนอกราชการ รวมถึงบุคคลในแวดวงอื่นๆที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลพรรคนิยมอิสลามซึ่งมาจากการเลืือกตั้ง เพราะเครือข่ายเออร์เกเนคอนเกรงว่าพรรคนิยมอิสลามจะมีอำนาจมากเกินไปโดยอาศัยข้ออางว่าพรรคนิยมอิสลามจะเข้ามาทำลายระบบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ แผนการดังกล่าวถูกเปิดเผยเมื่อ พ.ศ. 2550 เมื่อมีการค้นพบวัตถุระเบิดจำนวนมากในบ้านของอดีตนายทหารผู้หนึ่ง ทำให้สามารถขยายผลจับกุมนายทหารทั้งในและนอกราชการ รวมถึงคนในวงการอื่น เช่น นักหนังสือพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับแผนการรัฐประหารครั้งนี้รวมแล้วประมาณ 400 คน
หากดูประวัติศาสตร์ในอดีตของตุรกีแล้ว จะพบว่าทหารเข้ามามีบทบาททางการเมืองมาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกีเมื่อจักรวรรดิออตโตมันแพ้สงครามโลกครั้งที่1และล่มสลายลงไปกลายเป็นแผ่นดินที่สุลต่านออตโตมันแบ่งปันให้อังกฤษและฝรั่้งเศส ผู้ที่ดำเนินการจัดตั้งคณะรัฐบาลใหม่และรวบรวมกำลังทหารเพื่อขับไล่ทหารของชาติตะวันตกคือมุสตาฟา เคมัล อตาเติร์ก (Mustafa Kemal Atatürk) อดีตนายทหารของจักรวรรติออตโตมันที่เคยรบชนะอังกฤษที่สมรภูมิกัลลิโปลี ซึ่งในที่สุดเขาก็สามารถขับไล่ทหารต่างชาติออกไปได้สำเร็จ และจัดตั้งสาธารณรัฐตุรกีขึ้นมาโดยเป็นรัฐที่มีพรรคเดียวคือพรรคประชาชนสาธารณรัฐ (Republican People's Party) และพยายามลบมรดกของอิสลามในตุรกีเพราะแต่เดิมสุลต่านออตโตมันใช้ศาสนาอิสลามเป็นเครื่องมือในการบังคับประชาชนให้อยู่ในกรอบและทำให้ตุรกีล้าหลัง จึงทำให้ทหารในตุรกียุคต่อมารับมรดกความคิดที่ว่าทหารเป็นผู้มีบทบาทสำคัญทางการเมือง และพร้อมใช้กำลังทหารโดยอ้างว่าเพื่อปกป้องสาธารณรัฐและจำกัดความคิดอิสลามไม่ให้เติบโตมากเกินไป ทั้งที่อตาเติร์กเองเคยกล่าววาทะอันลือลั่นเอาไว้ว่า "ทหารไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หากอยากจะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองให้ลาออกไปเล่นการเมืองเสีย" แม้ว่าหลังจากพ ค.ศ. 1946 เป็นต้นมาตุรกีจะเริ่มมีพรรคการเมืองหลายพรรคขึ้นครองอำนาจ แต่ว่าทหารก็ยังคงใช้อำนาจในการควบคุมรัฐบาลพลเรือนมาโดยตลอด ตุรกีเคยมีการรัฐประหารใหญ่หลายครั้งเพื่อควบคุมทั้งพรรคสายอิสลามและพรรคฝ่ายซ้ายไม่ให้แข็งข้อต่อทหารได้ใน ค.ศ. 1960, ค.ศ. 1971 และ ค.ศ. 1980 และครั้งล่าสุดเมื่อ ค.ศ. 1997 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลพรรคสวัสดิการ (Welfare party) ที่เป็นพรรคนิยมอิสลาม
ต่อมา ใน ค.ศ. 2002 พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา (Justice and Development Party) ซึ่งนิยมอิสลามสายกลางชนะการเลือกตั้ง นายเออร์โดกันขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีตามวิถีทางประชาธิปไตย ในตอนแรกก็มีความหวั่นวิตกกันอย่างมากว่าพรรคนี้จะนำนโยบายอิสลามสุดขั้วมาใช้่ เช่น นำกฎหมายชาริยะห์ (Sharia) แบบอิสลามมาบังคับใช้ หรือบังคับให้ผู้หญิงต้องใส่ผ้าคลุมฮิญาบ (Hijab) เป็นต้น ทำให้ทางทหารแสดงความไม่พอใจและการข่มขู่จะล้มรัฐบาลนี้ในทางลับหลายครั้ง แต่ปรากฎว่า พรรคนี้ไม่ได้นำนโยบายอิสลามสุดขั้วมาใช้ แต่กลับเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง เนื่องจากว่าตุรกีได้พัฒนาไปไกลเกินกว่าที่จะนำนโยบายอิสลามสุดขั้วมาใช้ และการพัฒนาเศรษฐกิจส่งผลประโยชน์ต่อทุกคนทุกชนชั้นในตุรกีมากกว่าการบังคับเอานโยบายอิสลามมาใช้ แม้กระนัน ความพยายามของทางทหารที่จะโค่นล้มรัฐบาลนี้ก็มีอยู่เป็นระยะเนืองจากคิดว่าพรรคความยุติธรรมและการพัฒนามีแนวนิยมอิสลามและจะบ่อนทำลายอิทธิพลของทหาร ดังที่ได้ปรากฎในข่าวข้างต้น
จากบทเรียนของตุรกีในครั้งนี้ มีสิ่งสำคัญที่น่าสนใจคือ
1. แม้ทหารจะมีอิทธิพลทางการเมืองมาโดยตลอด แต่ในตอนนี้รัฐบาลพลเรือนสามารถมีอำนาจเหนือทหารได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สามารถทำลายแผนการรัฐประหารได้ แม้ทหารจะไม่ชอบรัฐบาลพลเรือนชุดนี้ แต่ก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับพรรคพลเรือนที่มีนโยบายไม่ตรงกับตนเอง (แม้ไม่รู้ว่าปฏิกิริยาของทหารจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้ก็ตาม)
2. พรรคอนุรักษ์นิยมอิสลามเองก็มีบทเรียนว่าเมื่อประเทศก้าวหน้ามากขึ้น มีแต่ดำเนินโยบายให้สอดคล้องกับการพัฒนาและสภาพที่เป็นจริงของสังคมจึงจะทำให้ตนสามารถขึ้นมามีอำนาจและรักษาอำนาจได้
แต่ว่าบทสรุปทางการเมืองของตุรกีคงยังไม่จบเพียงเท่านี้ การปะทะกันระหว่างทหาร พรรคสายนิยมอิสลาม รวมถึงผู้เล่นอื่นๆ เช่นพรรคฝ่ายซ้าย ยังคงรอเวลาที่จะแสดงผลออกมาให้โลกเห็น ซึ่งก็ต้องรอดูต่อไปว่าผลจะเป็นเช่นไร