เอแบคโพลพบ ปชช. เกินครึ่งต้องการให้แก้ รธน.

มติชน 15 มกราคม 2555 >>> 


ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ประชาชนเคยอ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่กับความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไปใน 28 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เพชรบุรี สระแก้ว เชียงใหม่ น่าน เชียงราย กำแพงเพชร ตาก เพชรบูรณ์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี อำนาจเจริญ อุดรธานี เลย สกลนคร ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี ชุมพร สงขลา ปัตตานีและยะลา จำนวนทั้งสิ้น 4,561 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2554-14 มกราคม 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้การเลือกตัวอย่างแบบแบ่งกลุ่มเชิงชั้นภูมิหลายชั้น ที่สุ่มเลือกจังหวัด อำเภอ ตำบล ชุมชน ครัวเรือน และประชาชนที่ตอบแบบสอบถามระดับครัวเรือน โดยมีช่วงความคลาดเคลื่อนบวกลบร้อยละ 7 พบว่า
ที่น่าเป็นห่วงคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.5 ไม่เคยอ่านรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเลย ในขณะที่ร้อยละ 38.7 เคยอ่านบ้าง และร้อยละ 3.8 อ่านอย่างละเอียดทั้งฉบับ ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อสัมภาษณ์เชิงลึกกับกลุ่มที่ระบุว่า “อ่านบ้าง” กลับพบว่าส่วนใหญ่จำไม่ได้ว่ามีประเด็นอะไรสำคัญ เพราะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว และบางประเด็นที่จำได้ว่าดีต่อสิทธิของประชาชนก็ยังไม่เคยใช้ประโยชน์อะไรจากรัฐธรรมนูญ ในขณะที่บางส่วนระบุว่า จำได้แต่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ดีต่อ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร และกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่อ่านรัฐธรรมนูญอย่างละเอียดทั้งฉบับส่วนใหญ่ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือของปี 2550 นี้มีข้อเสียคือทำให้ต้องเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยเพราะมีการยุบพรรคการเมืองง่ายเกินไป และไม่เป็นประชาธิปไตยเนื่องจากมาจากการยึดอำนาจ
อย่างไรก็ตาม เมื่อถามกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดถึง การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษาเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 46.7 ในเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา มาอยู่ที่ร้อยละ 53.8 ในการสำรวจครั้งล่าสุด โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า ควรแก้ไขบางประเด็นและต้องทำเพื่อประโยชน์ของสังคมโดยส่วนใหญ่ ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
นอกจากนี้ เมื่อวิเคราะห์จำแนกออกตามภูมิภาคแล้วพบว่า ประชาชนในเกือบทุกภาคเกินกว่าครึ่งเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเว้นคนในภาคใต้ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดยคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากที่สุดคือร้อยละ 68.4 รองลงมาคือ ภาคเหนือร้อยละ 55.3 คนกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 54.0 คนภาคกลางร้อยละ 50.6 ในขณะที่คนในภาคใต้ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.4 ไม่เห็นด้วย
ที่น่าสนใจคือ เมื่อจำแนกตามระดับรายได้ พบว่า กลุ่มคนที่รายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือนส่วนใหญ่หรือ ร้อยละ 58.6 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในขณะที่คนที่มีรายได้มากกว่า 20,000 บาทต่อเดือนเกินครึ่งหรือร้อยละ 52.4 ไม่เห็นด้วย
อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 69.8 ระบุว่า สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือ สสร. ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนทั้งประเทศเท่านั้น แต่ร้อยละ 30.2 ไม่คิดเช่นนั้น
ดร.นพดล กล่าวว่า น่าเป็นห่วงที่คนไทยส่วนใหญ่กำลังตัดสินใจประเด็นสำคัญทางการเมืองในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ควรแก้ไขหรือไม่ควรแก้ไข ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ไม่อ่านรัฐธรรมนูญ และรู้สึกว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงอาจจะทำให้ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองฝ่ายต่างๆ ที่อาจแสวงหาผลประโยชน์จากความไม่รู้และการไม่อ่านรัฐธรรมนูญของประชาชนได้
   “นอกจากนี้ สังคมไทยอาจตกอยู่ภายใต้การใช้ “อีรีดโมเดล” (ELITE Model) ที่คำนึงผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม ในการชี้นำประเทศ ซึ่งทุกวันนี้ก็กำลังเป็นไปในโมเดลนี้อยู่ ดังนั้น เพื่อให้นโยบายสาธารณะและรัฐธรรมนูญไม่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลและผลประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่ม ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ทั้งประเทศต้องมีส่วนร่วมในการออกเสียงพิจารณาประเด็นสำคัญต่างๆ ในรัฐธรรมนูญและสื่อมวลชนน่าจะนำสาระสำคัญในรัฐธรรมนูญมาชี้นำสาธารณชนให้เห็นประโยชน์ที่ใกล้ตัวและสามารถนำไปสู่การใช้กฎหมายฉบับอื่นๆ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในเรื่องต่างๆ ได้” ผอ.เอแบคโพลล์กล่าว
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 48.7 เป็นชาย ร้อยละ 51.3 เป็นหญิง ตัวอย่างร้อยละ 4.0 อายุน้อยกว่า 20 ปี ร้อยละ 19.1 อายุระหว่าง 20–29 ปี ร้อยละ 20.2 อายุระหว่าง 30–39 ปี ร้อยละ 21.7 อายุระหว่าง 40–49 ปี และ ร้อยละ 35.0 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 82.5 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 15.3 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 2.2 สำเร็จการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ตัวอย่างร้อยละ 38.4 ระบุอาชีพเกษตรกร/รับจ้างทั่วไป ร้อยละ 32.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 6.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 7.2 ระบุข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.2 ระบุเป็นนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 5.6 เป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 3.3 ว่างงาน/ไม่ได้ประกอบอาชีพ