ธิดา โตจิราการ นำธง นปช. สู่เป้าหมายปี' 55

ข่าวสด 5 มกราคม 2555 >>>




แนวทางเคลื่อนไหวช่วยเหลือคนเสื้อแดง

กรณีคนเสื้อแดงถูกดำเนินคดี เราอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำ มีมากทั้งแกนนำมวลชนระดับจังหวัดและแนวร่วม ทุกคดีดำเนินการเร็วมาก โดยเฉพาะแนวร่วมในต่างจังหวัด แม้แต่ระดับแกนนำอย่างนายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย คดีก็ไปเร็วมาก
หลายคดีศาลชั้นต้นตัดสินไปแล้ว การลงโทษมีมากสุด 30 ปี ลดหลั่นกันลงมา บางคนก็ 3 ปี รับสารภาพเหลือแค่ปีกว่า ได้รับการปล่อยตัวไปก็มาก
แต่ที่น่าตกใจคือ หลายคนติดคุกรอการตัดสินนานกว่าความผิดที่ได้รับอีก และความผิดก็แค่ผิดตามพ.ร.ก. ฉุกเฉินที่ไม่สมควรประกาศ เพราะประชาชนมาชุมนุมอย่างสงบตามรัฐธรรมนูญ นี่คือความไม่เป็นธรรม เรื่องนี้ต้องสู้กันต่อไป
ผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองนั้น น่าสงสารมาก ครอบครัวต้องล่มสลาย มีปัญหาหนี้สินมากมาย เพราะขาดหัวหน้าครอบครัว ไม่นับผู้ที่ได้รับการประกันตัวออกมาแล้ว
กลุ่มคนเหล่านี้มีมากกว่า 100 คดี ส่วนหนึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาสู้คดี ส่วนหนึ่งพ้นโทษเพราะสารภาพ แต่ที่ยังสู้คดีอยู่เพราะได้รับโทษหนักเกินไป ยังมีส่วนหนึ่งที่น่าสงสารมาก ทนายไปอุทธรณ์ไม่ทันทำให้คดีถึงที่สุดไป
ทั้งหมดนี้ นปช. จะตั้งกองทุนช่วยเหลือขึ้นมา และส่งมอบการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมที่นปช.รับผิดชอบไปให้รัฐบาล

ปัญหาการต่อสู้ในรอบปีที่ผ่านมา

สิ่งที่น่าช้ำใจคือ คดีกลุ่มคนเสื้อเหลืองเรื่องการยึดสนามบิน คดียังไม่ถึงไหน ไม่มีใครติดคุกสักคน
หรือกรณีของ ดา ตอร์ปิโด ที่แม้ไม่ใช่แกนนำคนเสื้อแดง แต่โดนคดีได้รับการลงโทษแล้ว ขณะที่คนซึ่งทำในลักษณะเดียวกัน คือ นายสนธิ ลิ้มทองกุล กลับลอยนวลอยู่
นี่คือความไม่เป็นธรรมและสองมาตรฐานชัดเจน เป็นเหตุผลที่จะต้องรื้อระบบกฎหมายของประเทศนี้ให้มีนิติรัฐนิติธรรม
แต่ถ้าคนเสื้อแดง หรือพรรคประชาธิปัตย์ถูกดำเนินคดีในลักษณะที่ถูกกลั่นแกล้ง แบบทีใครทีมัน เราก็ไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าสังคมไทยต้องก้าวข้ามเรื่องนี้ไปให้ได้ ลบความขัดแย้งที่ไม่สิ้นสุด
การต่อสู้ของคนเสื้อแดงไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อนำประเทศไปสู่นิติรัฐ จึงต้องแก้กติกากัน โดยเฉพาะกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ใช่ศาล ขอชมเชยคณะกรรมการ คอป. ที่มองเห็นจุดนี้ และเสนอไปยังรัฐบาลเพื่อให้แก้ไข

การเรียกร้องความเป็นธรรมคดี 91 ศพ

ฝั่งคนเสื้อแดงในฐานะผู้ฟ้องร้องคนที่สั่งฆ่าประชาชนนั้น มีทนายความจากบ้านเลขที่ 111 ดูแลอยู่ ฟ้องไปแล้วทั้งแพ่งและอาญา มีทั้งการฟ้องร้องจากครอบครัวผู้เสียชีวิตในวันที่ 10 เม.ย. 53 เรื่อยมาจนถึง 19 พ.ค. 53 ที่เสียชีวิตเพิ่มเติม
แต่นปช.มีความเห็นว่า การฟ้องร้องไม่ควรจำกัดเพียงผู้เสียชีวิตเท่านั้น ผู้ที่บาดเจ็บและเสียโอกาสเนื่องจากถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐ ต้องมาร่วมกันฟ้องด้วย
ข้อดีคือผู้ที่บาดเจ็บจะเป็นพยานชั้นดีให้กับตัวเอง เพราะเห็นกับตา คนตายพูดไม่ได้ คนเจ็บรู้และเห็นว่าใครทำ ใครยิง แต่ยังมีความหวาดกลัวอยู่ นปช.จะกระตุ้นให้คนเหล่านี้มาฟ้องร้อง
ที่ผ่านมาเรามีภาระมาก ทั้งการเยียวยา ช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดี แต่หลังจากที่นปช.ส่งมอบการเยียวยาให้รัฐบาลแล้ว จะมีเวลาทำงานมากขึ้น การฟ้องร้องจะมีมากขึ้นด้วย
ยังมีหน่วยงานรัฐที่เป็นผู้ฟ้อง เช่น คดี 16 ศพที่ดีเอสไอเป็นผู้ฟ้อง คาดหวังว่าจะได้คนผิดมาลงโทษ ต้องขอความเห็นใจจากผู้มีอำนาจเพื่อให้เกิดการดำเนินคดีกับผู้สั่งการ เป็นคดีตัวอย่างไม่ให้การฆ่าประชาชนเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก

การค้นหาความจริงในเหตุการณ์ เม.ย. - พ.ค. 53

นปช.ทำโดยผ่านการฟ้องร้อง เรื่องนี้สำคัญมาก เราตามหาพยานมาจำนวนหนึ่งที่เดิมกลัวก็เปลี่ยนใจมาให้ข้อมูล และตำรวจที่เคยกลัวผู้มีอำนาจก็กลับมาเป็นพยาน เราขอเพียงเท่านี้ ไม่ต้องเข้าข้าง เพียงแต่ไม่ขู่พยานและไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง หรือแม้แต่สร้างความสับสนให้กับพยาน จนทำให้ความจริงถูกบิดเบือน
อย่างการใช้คำทางการที่ชาวบ้านทั่วไปไม่สามารถเข้าใจได้ เช่น การยิงปืนระดับ 90 องศา หรือระยะการมองว่ากี่สิบเมตร ตรงนี้ได้รับการบอกเล่าจากพยานจนนำไปสู่ความไม่ชัดเจนจนส่งผลต่อคดี จึงอยากให้เปิดเผยความจริงออกมา
เข้าสู่ยุคใหม่ อย่าให้การบิดเบือนความจริงกลายเป็นฟางเส้นสุดท้าย แต่การบอกความจริงจะเป็นการหยิบของออกมา เป็นการค่อยๆ ลดความขัดแย้งในสังคมได้ บอกความจริงแล้วขั้นต่อมาก็จะตามมา แต่ออกมารูปแบบใดขึ้นอยู่กับความจริงนั้นๆ

ทำอย่างไรให้ความยุติธรรมในสังคมเกิดขึ้น

ที่ผ่านมาคนเสื้อแดงยอมเสียสละ บาดเจ็บล้มตาย ให้สังคมเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย แต่กลับได้รับผลตอบแทนที่แสนเจ็บปวด ถูกผู้มีอำนาจกดขี่ แจ้งข้อหารุนแรง
ทั้งที่ในอารยประเทศจะเห็นได้ว่าประเทศไหนที่เปลี่ยนผ่านระบอบเผด็จการมาสู่ระบอบประชาธิปไตยแล้ว จำเป็นต้องมีกติกาเฉพาะ กฎหมายในช่วงเผด็จการจะไม่นำมาใช้
รวมถึงผู้ที่ถูกดำเนินคดีในช่วงใช้อำนาจเผด็จการจะต้องได้รับความยุติธรรม ให้พิจารณาคดีกันใหม่ ซึ่งคอป.ก็มีข้อเสนอในเรื่องนี้เช่นกัน ใช้คำว่าความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ที่ให้ชะลอคดีจนกว่าจะมีหลักฐานเพียงพอ
นี่เป็นเรื่องที่มุ่งหวัง หากเกิดขึ้นได้ความยุติธรรมก็จะเกิดขึ้น หวังว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเสนอของคอป. ส่วนนักกฎหมายจะต้องมาร่วมกันปฏิรูปกฎหมายต่างๆ ที่ไม่มีความยุติธรรมด้วย
เรื่องนี้ไม่ใช่การทำเพื่อคนคนเดียว แต่เป็นเรื่องของสังคม ทุกคนได้ประโยชน์

ประชาธิปไตยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นหรือไม่

สังคมไทยเปลี่ยนผ่านจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาสู่ประชาธิปไตย แต่ยังไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ เพราะมาติดหล่มที่พวกที่เรียกว่าอำมาตย์ เมื่ออำนาจยังอยู่ในกำมือกลุ่มคนเหล่านี้ การฉีกรัฐธรรมนูญจึงเป็นเรื่องง่าย ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
พรรคประชาธิปัตย์เลือกตั้งกี่ทีก็แพ้ พอแพ้ก็เรียกหาตัวช่วยและเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ จึงชัดเจนว่าคนเหล่านี้ไม่มีจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตย ยอมรับการรัฐประหาร
ก้าวต่อไปของนปช. ไม่ใช่แค่แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายไม่เป็นธรรม ต้องแก้จิตสำนึกของคนด้วย จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงเกิดขึ้น

เป้าหมายสำคัญในปี 2555

เป้าหมายของนปช.ที่ผ่านมาสำเร็จไปแล้ว 1 อย่าง คือล้มรัฐบาลเผด็จการด้วยการเลือกตั้ง เป้าหมายที่ 2 คือล้มรัฐธรรมนูญเผด็จการ และเป้าหมาย 3 ล้มระบอบอำมาตย์ โดยการเปลี่ยนกติกา สร้างจิตสำนึกประชาชน
ประชาธิปไตยตอนนี้ประเทศไทยได้มาแล้ว 20 เปอร์เซ็นต์จากการเลือกตั้งของประชาชน หากแก้รัฐธรรมนูญจะได้มาอีก 30 เปอร์เซ็นต์ หากแก้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรมอื่นๆ จะได้อีก 20 เปอร์เซ็นต์
ทั้งหมดจะได้ประชาธิปไตย 70 เปอร์เซ็นต์ โดยจะได้ไม่เกิน 3 ปีนับจากนี้ แต่การแก้รัฐธรรมนูญและกฎหมายรายรอบจะถูกขัดขวาง เพราะคนเหล่านี้เสียประโยชน์
ทุกอย่างจึงต้องอาศัยเวลาในการก้าวข้าม