ความเร่าร้อนคึกคักของประชาชนในปี 2555

บทความประจำสัปดาห์ 18 มกราคม 2555
โดย ธิดา  ถาวรเศรษฐ ....




ปีนี้เริ่มด้วยเรื่องราวการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อนำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยมือของประชาชนเป็นไปอย่างคึกคัก ได้รับการขานรับจากประชาชนไม่เฉพาะคนเสื้อแดงเท่านั้น แม้แต่การสำรวจโพลก็สะท้อนว่า คนส่วนมากกว่าครึ่งต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ และส่วนใหญ่ต้องการผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง และถ้าไปทำโพลถามประชาชนคนเสื้อแดง ตัวเลขจะสูงกว่านี้มากมาย เกือบ 100% ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ 291 เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยเร็วและต้องการผู้ร่างที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะพี่น้องเราอยากแสดงพลังอำนาจของประชาชน ไม่เฉพาะแต่การเลือกตั้ง ส.ส. เพียงอย่างเดียว แต่ต้องการพื้นที่ทางอำนาจของประชาชนมากขึ้น
ความเชื่อมั่นในพลังประชาชนยิ่งมีอัตราสูงขึ้นทุกวัน กระแสการได้ตัวแทนมาร่างรัฐธรรมนูญจากวิชาชีพ การสรรหา การแต่งตั้ง จึงล้วนเป็นกระแสที่ตกยุคโดยสิ้นเชิง ถ้าใครตีโจทย์นี้ไม่ออกว่าประชาชนต้องการสำแดงพลังแห่งอำนาจประชาชนมากขึ้นทุกวันก็จะตกยุคแน่นอน ข้อเสนอใดที่เมินการใช้อำนาจของประชาชน หลงไปกับความเชี่ยวชาญหรือตัวแทนอาชีพของชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง ก็จะถูกต่อต้านจากประชาชนที่ก้าวหน้ากว่า
ในช่วงเวลานี้จะเป็นการถกเถียงกันว่า รูปแบบการได้คณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นแบบไหน แบบที่แรงหน่อยได้รับการสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคเพื่อไทย ออกมาแสดงความเห็นด้วยคือแบบ สสร. ที่เอามาจาก สสร.1 ยุค 2540 และจากวิธีการได้ ส.ว. เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ได้จากฐานคิดให้ได้ผู้รับเลือกจากทุกจังหวัด ๆ ละ 1 คน ไม่ว่าจะมีประชากรมากน้อยเพียงไร แล้วหาผู้เชี่ยวชาญรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ อีก 22 คนหรือ 24 คน มาเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ น่าแปลกที่ผ่านมา 15 ปี ผ่านการต่อสู้ล้มตายของประชาชน และความคึกคัก เร่าร้อน ตื่นตัวของประชาชนในช่วง 5 ปีหลังการรัฐประหาร บางคนยังกลับไปใช้ที่มาของ สสร. แบบเดิมที่ล้าหลังในปัจจุบัน แต่ในปี 2538-2540 อาจดูทันสมัย เพราะในอดีตเราไม่เคยมีตัวแทนประชาชนจากเลือกตั้งมาร่างรัฐธรรมนูญ มีแค่ข้าราชการ ทหาร พลเรือนชั้นสูง พ่อค้า นักธุรกิจ มาเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ในยุคเผด็จการทหารอายุสภาร่างยาวนานบางทีถึงสิบปี ร่างกันจนแก่ต่าย ว่างั้นเถอะ
แต่บทจะเร็วก็เร็วมาก ในยุคเผด็จการทหารสำคัญเมื่อ 2490 อันเป็นจุดสำคัญที่ทำให้การเมืองไทยหันหลังกลับถอยหลังก่อนปี พ.ศ. 2475 รัฐธรรมนูญ 2490 ร่างไว้ก่อนแล้วซ่อนไว้ในตุ่ม จึงเรียกรัฐธรรมนูญฉบับใต้ตุ่ม พอรัฐประหารปั๊บก็มีรัฐธรรมนูญที่ร่างไว้แล้วใช้ได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้นกำเนิดรัฐธรรมนูญไทยที่ล้าหลังในยุคต่อมาเป็นสำคัญ ดังนั้นรัฐธรรมนูญที่เรามักจะถือว่าก้าวหน้าจึงเริ่มด้วย รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2475 ฉบับ 2489 ฉบับ 2517 และฉบับสุดท้ายที่กล่าวกันมากคือ 2540 ทั้ง ๆ ที่ยังสืบสายพันธุ์รัฐธรรมนูญรัฐประหาร 2490, 2492 มีความล้าหลัง ถอยหลังอยู่มิใช่น้อย โดยเฉพาะฉบับ 2540 ที่เรียกกันว่าฉบับประชาชน ในยุคหลังการต่อสู้พฤษภาทมิฬ 2535 ความจริงรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ยังไม่อาจนับได้ว่าเป็นฉบับประชาชนจริง ๆ ในขั้นนี้ยังไม่พูดถึงเนื้อหา แต่พูดถึงกระบวนการที่ดูดีขึ้น ความจริง แสดงออกว่ามี สสร. มาจากประชาชนในเชิงสัญญลักษณ์ จังหวัดละ 1 คน แบบเดียวกับ ส.ว. เลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2550 (คิดได้ไง ?) จังหวัดที่มีคนแสนกว่าคนมีตัวแทนได้ 1 คน เท่ากับ จังหวัดที่มีประชาชนกว่า 4 ล้านคนที่มีสิทธิเลือกตั้ง (ก็คิดแบบอำมาตย์ไง ?) พูดง่าย ๆ คน 1 แสนหรือ 5 ล้านก็ชั่วหัวมันปะไร ให้จังหวัดละ 1 คนมาเป็นไม้ประดับเท่านั้นเอง แล้วเลือกนักวิชาการมาร่างจริง โดยวิธีการที่ให้ได้คนที่มีแนวคิดตรงกับผู้ได้อำนาจรัฐมาร่าง ยุคเผด็จการทหารก็ได้อรหันต์ที่ร่างได้ตามใบสั่ง มายุคประชาธิปไตยผลิใบก็มีบางคนคิดใช้กระบวนการวิธีเดียวกัน ผลัดกันเขียน เวียนกันฉีก แล้วเขียนใหม่ บางทีก็เป็นอรหันต์ชุดเดิมนั่นแหละ เขียนแล้วเขียนอีก คนเหล่านี้ถ้าไม่มีจุดยืนของประชาชนแล้วจะเขียนรัฐธรรมนูญของประชาชนได้อย่างไร เผอิญมีผู้ชำนาญการเขียนรัฐธรรมนูญสายพันธุ์เผด็จการ อำมาตยาธิปไตยมากเสียด้วยในประเทศไทย ประชาชนและคนเสื้อแดงล้วนจดจำผลงานทางประวัติศาสตร์ของนักวิชาการเหล่านี้ได้ (พร้อมปิดจมูกร้องยี้) ถามว่า แล้วนักวิชาการฝ่ายประชาชนมีไหม ก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง แต่บางท่านก็ยินดีลงสมัครเลือกตั้ง สสร. บางท่านก็ยินดีเป็นอนุกรรมาธิการหรือที่ปรึกษา หรือเป็นวิทยากรให้ประชาชนในนามคณะนักวิชาการ การไม่ยอมรับอรหันต์วิชาการมาร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนก็จะมากยิ่งขึ้น
รัฐธรรมนูญแต่ละฉบับมีที่มาและเนื้อหาต่างกันตามยุคสมัยว่ามาจากเผด็จการทหารเต็ม ๆ หรือมาจากยุคอำมาตยาธิปไตยบวกทหาร หรือมาจากอำมาตยาธิปไตยบวกชนชั้นกลาง
รัฐธรรมนูญฉบับเลวร้าย เช่น 2490, 2492, 2500, 2505 ล้วนเป็นอำมาตยาธิปไตยบวกทหาร หรือทหารเผด็จการเต็ม ๆ ที่สนับสนุนอำมาตยาธิปไตย แต่ฉบับ 2517 และฉบับ 2540 จัดเป็นอำมาตยาธิปไตยบวกชนชั้นกลาง แต่การต่อสู้ของประชาชนไทยนับจากรัฐประหาร 2549 เกิดขึ้นมา 5 ปีนี้ ถือเป็นพัฒนาการในระดับสูง ไม่อาจใช้โมเดลแบบ 2517 หรือ 2540, 2550 หรือแม้แต่ใช้กระบวนการแบบเผด็จการโดยอ้างการประนีประนอม ใช้นักวิชาการ ชนชั้นกลางที่ผสมกันมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นี่จะเป็นการประเมินความก้าวหน้าของประชาชนผิดพลาด การได้รับอำนาจมาจัดตั้งรัฐบาล มิได้หมายความว่าจะใช้สิทธินี้ทุกเรื่อง
มีอยู่สองเรื่องที่ต้องฟังเสียงประชาชนให้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือเป้าหมายการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยและความยุติธรรม ปัญหาการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 และการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เที่ยวนี้ต้องเป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนที่ได้มาจากการต่อสู้ของประชาชนที่เสียสละชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และโอกาสชีวิตส่วนตัวมากมายทั่วประเทศ ดังนั้นการคิดหยาบ ๆ ง่าย ๆ โดยเอาความคิดประนีประนอมกับกลุ่มอำมาตย์เป็นตัวตั้งเพราะหวังจะได้อยู่ในอำนาจนาน ๆ หวังว่าทหารจะไม่ทำรัฐประหาร หวังจะไม่ถูกระบบตุลาการภิวัฒน์ในเครือข่ายระบอบอำมาตย์กระทำ จะนำมาสู่ความพ่ายแพ้รอบใหม่ ประชาชนจึงต้องจับตาดูการกระทำของรัฐบาล สังคมโลกก็กำลังจับตาดูเช่นกันว่า ในเนื้อหาประชาธิปไตยและเนื้อหาของความยุติธรรม พรรคเพื่อไทยจะทำเช่นไร จะทำลายผลพวงการต่อสู้ของประชาชนและไม่ทำลายผลพวงของการทำรัฐประหาร หรือมิได้หวังให้ได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง มิได้หวังให้ได้ความยุติธรรมในสังคมไทย หรือจะเลือกเป็นพรรคแนวทางมวลชน พรรคของประชาชน