ในยามที่มีบางคนวิพากษ์วิจารณ์ว่า การให้เงินผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมด้วยกำลังทหารเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมาไม่เหมาะสม ผมพบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งเกิดขึ้นในสังคม คือการที่คนจำนวนหนึ่ง แม้ว่าจะได้เห็นภาพที่ทหารใช้อาวุธสงครามเป็นจำนวนมากอย่างโจ่งแจ้ง และมีพลเรือนล้มตายจากอาวุธสงครามเป็นจำนวนมาก ซึ่งภาพส่วนหนึ่งก็สามารถเชื่อมโยงกันได้ว่าการตายของพลเรือนนั้นอาจเกี่ยวข้องกับทหาร แต่พวกเขากลับยอมรับการตายของพลเรือนด้วยอาวุธสงครามได้โดยง่าย ผมเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงจะสงสัยอย่างมากว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
ตัวอย่างที่ดีคือกรณีการเสียชีวิต6ศพในวัดปทุมวนาราม ที่มีภาพเห็นชัดเจนว่า ผู้ที่แต่งตัวเหมือนทหารและติดสติกเกอร์บอกฝ่ายสีชมพูเช่นเดียวกับทหารที่เข้าปฏิบัติการณ์ "เคลียร์” พื้นที่รอบๆสี่แยกราชประสงค์เล็งปืนยิงเข้าไปในวัดปทุมวนาราม ผู้ที่อยู่บนรางรถไฟฟ้านั้นแต่งกายคล้ายทหาร ผู้ที่แต่งกายคล้ายทหารนั้นติดสติกเกอร์สีชมพูด้านหลังหมวกและปืนและเล็งปืนเข้าไปในวัดปทุมวนาราม บุคคลที่แต่งกายคล้ายทหารและติดสติกเกอร์สีชมพูนั้นไม่ได้มาคนเดียวแต่มาเป็นหมู่ และกำลังเล็งปืน M 16 ที่มีใช้ในราชการทหารเข้าไปในวัดปทุม ทหารหน่วยอื่นที่เข้าปฏิบัติการในวันที่ 19 พ.ค.ที่มาทางรางรถไฟฟ้าด้านสวนลุมพินีนั้นก็ติดสติกเกอร์สีชมพูเช่นเดียวกัน เมื่อพิจารณาข้อมูลถึงจุดนี้ก็น่าจะพบว่าความเป็นไปได้ที่บุคคลที่แต่งการคล้ายทหารที่ยิงปืนเข้าไปในวัดปทุมวนารามน่าจะเป็นทหาร ผลลัพธ์ที่ทหารยิงเข้าไปในวัดปทุมวนาราม จะสังเกตว่า ร่างผู้เสียชีวิตบางคน (เช่นน้องเกด) นั้น มีเครื่องหมายกาชาดที่เสื้ออย่างชัดเจน ไม่มีใครพบว่าทั้ง 6 คนนั้นมีอาวุธ และไม่มีทหารได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่บริเวณวัดปทุมวนารามเลย
ท่านที่ยังไม่ได้ดูภาพทั้งหมดสามารถดูได้ที่นี่
http://thaiaudio.wordpress.com/2010/05/27/ภาพชุด-ทหารเล็งปืนบนราง/
สำหรับผู้ที่อยากดูคลิปวีดีโอเหตุการณ์การใช้อาวุธสงครามยิงเข้าไปในวัดปทุมวนารามนั้นสามารถดูได้ตามที่อยู่นี้
http://www.youtube.com/watch?v=av-y0K45zrk
ข้อมูลเหล่านี้ แม้จะได้รับการเผยแพร่นับตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2553 อย่างต่อเนื่อง แต่ทว่าบางคนที่ดูข้อมูลเหล่านี้แล้ว ก็ยังไม่เกิดความสงสัยว่าทหารมีโอกาสที่จะเป็นผู้ยิงพลเรือนที่ปราศจากอาวุธทั้ง 6 คนแม้แต่น้อย ซึ่งหากคิดตามสามัญสำนึกแล้ว โอกาสที่จะไม่สงสัยทหารนั้นไม่มีเลย ผมจึงเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?
ผมได้รับคำตอบบางส่วนเมื่อมานั่งทบทวนวิชาจิตวิทยาที่เคยเรียนมา ซึ่งกล่าวว่าเมื่อมนุษย์เผชิญกับภาวะที่สิ่งที่ตนรับรู้มาไม่ต้องกับความประสงค์หรือความคิดของตน มนุษย์จะสร้างกลไกป้องกัน (Defense Mechanism) เพื่อปกป้องไม่ให้จิตใจของตนได้รับการกระทบกระเทือนมากจนเกินไปซึ่งมีหลายระดับ มาย้อนดูแล้ว ตรรกะหลายอย่างที่ผู้ที่คัดค้านการให้เงินชดเชยผู้เสียชีิวิตจากการปราบปรามของทหารนั้นก็ดูจะมีรากฐานมาจากลไกป้องกันจิตใจของตนเองในระดับล่างซึ่งยิ่งห่างจากความเป็นจริง ยกตัวอย่างเช่น
- บางคนปฏิเสธว่าไม่เคยมีการฆ่ากันที่วัดปทุมวนาราม เป็นเรื่องที่กุขึ้นมาทั้งหมด ซึ่งกรณีนี้เข้าข่ายกลไกป้องกันแบบปฏิเสธความจริง (Denial) คือปิดประตูตายไม่รับรู้เรื่องราวที่เกิดขึ้นเข้าไปในใจเลย
- บางคนอ้างว่าชายชุดดำหรือเสื้อแดงปลอมเป็นทหารแล้วเข้าไปยิงประชาชนในวัดปทุมวนาราม ซึ่งหากทำเช่นนั้นได้กลุ่มชายชุดดำจะต้องสามารถเดินฝ่าทหารที่ปิดล้อมมาตั้งแต่บริเวณสยามและสถานีรถไฟฟ้าสยามไปจนถึงสถานีรถไฟราชดำริ โดยต้องสามารถรับรู้ข้อมูลลับสุดยอดและจัดหาอุปกรณ์พิเศษอย่างเช่นสติกเกอร์ที่ใช้แสดงฝ่าย ถ้าชายชุดดำเก่งขนาดนั้นทำไมไม่สร้างสถานการณ์ที่ทำลายขวัญทหารเพื่อที่จะทำให้ผู้ชุมนุมสามารถออกมาจากวัดปทุมวนารามได้ และหากกลุ่มชายชุดดำเข้าไปก่อเหตุสะเทือนขวัญโดยการยิงในวัดปทุมวนารามแล้ว เหตุใดจึงสามารถออกมาได้โดยไม่ต้องตอบคำถามผู้บังคับบัญชาว่าทำไมจึงใช้อาวุธนอกเหนือจากคำสั่ง ? จริงๆแล้วคนที่ใช้กลไกป้องกันตัวแบบนี้ก็ทราบดีว่าทฤษฎีนี้มีข้ออ่อนดังที่ได้กล่าวมาแล้ว แต่พวกเขาก็ยังใช้ปกป้องจิตใจตนเองไม่ให้รับทราบว่าทหารยิงประชาชน กรณีนี้เข้ากับกลไกป้องกันแบบโยนความผิด (Projection) คือโยนความผิดของตนหรือบุคคลที่ตนชื่นชอบไปให้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่น
- บางคนใช้ตรรกะว่า เสื้อแดงเป็น "คนเลว" (ก่อการร้าย เผาบ้านเผาเมือง ล้มเจ้า) เสื้อแดงและคนที่เข้าไปช่วยเสื้อแดงจึงสมควรตายทั้งหมด และสิ่งช่ัวร้ายท้ังหมด เช่น การฆ่านั้นเป็นผลงานของเสื้อแดงทั้งสิ้น ส่วนทหารและผู้มีอำนาจในรัฐบาลเวลานั้นเป็น "คนดี” จึงไม่ทำสิ่งเลวร้ายอย่างเช่นยิงประชาชนมือเปล่าอย่างแน่นอน ซึ่งเข้ากับกลไกป้องกันทางจิตแบบแยกดีเลวขาดจากกัน คือแยกว่าฝ่ายหนึ่งเป็น "คนดี" อีกฝ่ายหนึ่งที่ตนไม่ชอบเป็น "คนเลว" แล้วคิดว่า "คนดีจะต้องทำแต่เรื่องดี ส่วนคนเลวจะต้องทำแต่เรื่องเลว"
- บางคนใช้ตรรกะว่าอภิสิทธิ์ได้พยายามทำดีที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงความรุนแรงแล้ว ทั้งที่หากดูความเป็นจริงคือรัฐบาลในเวลานั้นได้สั่งให้กองทัพเคลื่อนกำลังทหารเข้ากรุงตลอดเวลา และเตรียมใช้กำลังทหารพร้อมอาวุธสงคราม รวมถึงวางกำลังทหารพร้อมอาวุธสงครามตลอดเวลา รวมถึงประกาศ "เขตใช้กระสุนจริง" ในกรณีนี้ตรงกับกลไกป้องกันทางจิตแบบ "ยกยอให้เป็นไปตามอุดมคติ" คือทำให้บุคคลหรือสิ่งที่ชอบนั้นดีกว่าในความเป็นจริง
เมื่อคนเหล่านี้ใช้กลไกป้องกันทางจิตเช่นนี้แล้ว พวกเขาจึงมีแนวโน้มจะเชื่อแต่ข้อมูลฝั่งที่โจมตีว่าเสื้อแดงเป็นคนเลวร้ายส่วนข้อมูลที่เขาคิดว่าทำให้เสื้อแดงดูไม่ได้เลวร้ายเกินไปถูกกำจัดออกไปจากสมองด้วยกลไกป้องกันทางจิตเหล่านี้ จึงทำให้พวกเขาเกิดความเกลียดชังฝั่งตรงกันข้ามอย่างรุนแรงจนก่อให้เกิดการเพิกเฉยต่อการละเมิดมนุษยธรรมอย่างโจ่งแจ้ง และทำให้พวกเขาไม่สามารถรับความเป็นจริงได้เมื่อรัฐบาลชดเชยความเสียหายที่อำนาจรัฐกระทำต่อประชาชนมือเปล่า เพราะเท่ากับไปกระทบต่อกลไกการป้องกันจิตใจของพวกเขาอย่างรุนแรง จึงได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาคัดค้านการชดเชยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามการชุมนุมในปี อย่างที่ปรากฎตามหน้าสื่อบางฉบับหรือกลุ่มสังคมออนไลน์ ซึ่งตราบใดที่คนบางส่วนยังใช้กลไกป้องกันจิตใจแบบบิดเบือนความเป็นจริงเช่นนี้ ก็ยากที่สังคมไทยจะสามารถยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นเมื่อปี หรือเหตุการณ์อื่นๆในภายภาคหน้า