ปคอป. ขอ 2 พันล้านเยียวยาม็อบแดง-ตายรับ 3 - 5 ล้าน

กรุงเทพธุรกิจ 6 มกราคม 2555 >>>


วันนี้ (6 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.มหาดไทย ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) ภายหลังการประชุม นายเอนก วงศ์เพิ่มเสนีย์ เลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะรองโฆษกปคอป.แถลงผลการประชุมว่า การประชุมในวันนี้พิจารณาเรื่องการเยียวยากับผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ตามที่ ฝ่ายเลขานุการปคอป.ได้เสนอกรอบของเรื่องนี้คือเสนอให้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมืองทุกกรณีตั้งแต่ปี 2548 - 53 และเสนอไปอีกว่าการชดเชยที่ดำเนินการไปแล้ว โดยรัฐบาลชุดที่แล้วกำหนดกรอบการเยียวยาไว้แล้วนั้น หากประชาชนที่ได้รับผลกระทบและรับเงินเหล่านั้นไปแล้วแต่เสียหายมากกว่าก็จะรับเงินเพิ่มเติมขึ้นจากแนวทางที่เสนอในวันนี้ โดยที่ประชุมเห็นชอบแนวทางดังกล่าวแล้วและจะเสนอครม.ในสัปดาห์หน้าเพื่อที่จะไปของบประมาณและกำหนดหลักเกณฑ์รวมทั้งตั้งอนุกรรมการขึ้นมาเยียวยาทางแพ่งโดยจะตั้งให้นายประสิทธิ์ โฆวิไลกุล อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเป็นประธาน ส่วนอนุกรรมการเยียวยาทางอาญานั้นจะตั้งให้นายชัยเกษม นิติสิริ อดีตอัยการสูงสุดเป็นประธาน โดยจะต้องไปกำหนดมาตรการและวิธีกาต่างๆต่อไป
   "วางกรอบกว้างๆไว้ว่าการเสียชีวิตนั้นจะเยียวยาแบบใด โดยนำหลักจีดีพีมาคำนวณว่ารายได้ประชาชาติของไทยในปัจจุบันมาคำนวณว่าต้องจ่ายเงินให้ผู้เสียชีวิตทางการเมืองนั้นจะได้เท่าใด หลักคือ 3 - 5 ล้านบาทต่อหนึ่งราย"นายเอนกกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากเยียวยาด้วยวงเงินแบบนี้ รัฐบาลจะหมดตัวหรือไม่ เพราะประเทศไทยมีวิกฤติต่างๆเกิดขึ้นเยอะ นายเอนกกล่าวว่า พิจารณากรอบไว้ และเบื้องต้นคิดว่าน่าจะใช้เงินประมาณสองพันล้านบาท และที่ประชุมเห็นว่ารัฐบาลชุดที่แล้วตั้งงบประมาณเยียวยาไว้แล้ว 11,480 หมื่นล้านบาท ใช้ไปแล้ว 8,340 ล้านบาท และยังเหลือ 3,000 ล้านบาทเศษ จึงมอบให้สำนักงบประมาณไปตรวจว่างบตัวนี้ยังอยู่หรือไม่ หากยังอยู่ก็จะใช้งบตัวนี้ต่อ คือสองพันล้านบาทเท่านั้น เพื่อที่รัฐบาลไม่ต้องเสียภาระในการขอเบิกงบประมาณใหม่ ยืนยันว่าการเยียวยาดังกล่าวนั้นมีผลย้อนหลังตามที่ตนระบุไว้ในข้างต้นในทุกกรณี
เมื่อถามว่าประเทศไทยผ่านเหตุแบบนี้มามาก จะใช้หลักการเดิมในการเยียวยาหรือไม่ นายเอนกกล่าวว่า จะใช้หลักเกณฑ์เดิมที่ดำเนินการทางกฎหมายรวมทั้งหลักเกณฑ์ใหม่ที่ยึดหลักสากลด้วย โดยต้องเทียบกับต่างประเทศที่เกิดเหตุแบบนี้เช่น อาร์เจนติน่า เปรู และสหประชาชาติมีวิธีการและแนทางการฟื้นฟูจิตใจผู้ได้รับผลกระทบมีความพึงพอใจและอยู่ในสังคมได้ดั่งเดิม เพื่อลดความกดดันทางจิตใจ และสิ่งสำคัญคือการเร่งดำเนินการในวันนี้นั้นมีจุดประสงค์ว่า ต้องทำเช่นใดต้องก้าวข้ามความขัดแย้งและสร้างความปรองดองในสังคมขึ้น หากเกิดการเยียวยาดังกล่าวขึ้นมาแล้ว การใช้ความรุนแรงในความขัดแย้งจะลดลงไป คือรัฐบาลต้องเยียวยาให้เป็นที่พอใจของผู้ได้รับผลกระทบ มันเป็นการป้องปรามผู้ที่จะดำเนินการความรุนแรงไม่ให้มาร่วมดำเนินการ โดยตนเชื่อว่า มาตรการนี้จะสร้างความปรองดองและไม่เกิดความขัดแย้งขึ้น และไม่กังวลว่าหากรัฐบาลเยียวยาแล้วจะเป็นการชักจูงใจให้มีผู้ออกมาชุมนุมเพิ่มเพราะต้องการได้รับการเยียวยา