กลุ่มนิติราษฎร์ มั่นใจแก้ ม.112 ลดการใช้อารมณ์วิจารณ์ ระบุไม่ผิดกฎหมาย

มติชน 15 มกราคม 2555 >>>




ที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เวลา 15.50 -17.00 น. ผู้สื่อข่าวรายงานกิจกรรมวิชาการในเวทีวิชาการ - ศิลปวัฒนธรรม "แก้ไขมาตรา 112" ช่วงที่สองเป็นการ “ตอบคำถามคาใจ: ทำไมต้องแก้ 112” ดำเนินรายการโดย ผศ.เวียงรัฐ เนติโพธิ์ กลุ่มสันติประชาธรรม และอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ กลุ่มสันติประชาธรรม เป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า การวิจารณ์สถาบันฯ โดยสุจริตทำให้เกิดการปรับตัว เป็นหัวใจของความมั่นคงของสถาบัน สื่อต่างประเทศบอกว่า ในไทย ห้ามวิจารณ์ ไม่เป็นผลดีเพราะไม่มีสถาบันทางการเมืองใด อยู่ได้โดยไม่ปรับเปลี่ยน ดังนั้น การเสนอแก้ไข ตามร่างนิติราษฎร์ นี้ ยังมีพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ การแก้ไขต้องสอดคล้องสิทธิเสรีภาพประชาชน
ส่วนหากแก้ไขแล้วจะยิ่งมีการหมิ่นหรือไม่นั้น ดร.พวงทอง เชื่อว่า การใช้อารมณ์วิจารณ์จะลดลง เพราะ ถ้ามีกฎหมายที่คุ้มครองการวิจารณ์โดยสุจริต มีหลักฐาน การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ถูกต้อง การหมิ่นในทางลับอย่างไม่เปิดเผยจะลดน้อยลง
ดร.พวงทองกล่าวถึงสาเหตุที่ไม่รณรงค์ยกเลิก มาตรา 112 ว่า ไม่ใช่ความขี้ขลาด เพราะถ้าหากขี้ขลาดคงอยู่บ้าน แต่ร่างฯ ที่เสนอนี้ ให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในระดับที่พึงพอใจ
   "ประเด็นสำคัญคือ เราอยู่ในสังคมที่มีความคิดผู้คนหลากหลาย ต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้ ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่มีเรื่องวัฒนธรรมความเชื่อ เราต้องคำนึงถึงด้วย เพราะมีกระแสอนุรักษ์นิยมอยู่ ถ้าข้อเสนอนิติราษฎร์ ได้รับการตอบรับก็เป็นความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ส่วนคนที่เห็นว่าควรยกเลิกก็ควรจัดเวทีขึ้นมาอีกได้แล้วเราจะไปร่วมฟัง" ดร.พวงทอง กล่าว
สำหรับความเห็นว่าลักษณะเฉพาะของสถาบันฯของไทยไม่ควรเปรียบเทียบที่อื่น ดร.พวงทอง กล่าวว่า ทุกที่มีลักษณะเฉพาะ ตามพิธีกรรม แต่ทุกที่ต้องปรับตัว อยู่เหนือการเมือง อย่าเอาความกลัวเข้ามาเป็นลักษณะเฉพาะ
ขณะที่ ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร กลุ่มสันติประชาธรรม และอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กล่าวถึงการแก้มาตรา 112 ว่า ถ้าฟื้นฟูประชาธิปไตยต้องกลับไปที่หลัก 6 ประการคณะราษฎร จะมีได้ก็เมื่อปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ การมี มาตรา112 ไม่ได้ให้หลักประกันสิทธิเสรีภาพ ไม่สามารถวิจารณ์ได้เพราะหากวิจารณ์จะถูกตั้งข้อหาหมิ่น แต่กลับมีความไม่เสมอภาคในสิทธิการแสดงออก เพราะคนบางกลุ่มวิจารณ์สถาบัน แต่กฎหมายไม่สามารถเอาผิดได้ เช่น ในวิกิลีคส์ มีคนวิจารณ์สถาบันแต่คนอื่นวิจารณ์ไม่ได้
   "ส่วนเรื่องเอาเจ้าหรือไม่เอาเจ้า ก็ไม่เป็นประเด็น เพราะข้อเสนอนิติราษฎร์ ไม่ได้เสนอให้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมี กษัตริย์เป็นประมุข" ดร.ยุกติ กล่าว
ดร.ยุกติ กล่าวว่า ลักษณะมาตรา 112 ที่เป็นอยู่ ก่อให้เกิดความกลัวที่จะใช้เสรีภาพ แม้แต่เรื่องเล็กน้อย มีบางคนบอกว่าขอพื้นที่ให้ความศรัทธาบ้าง อยากจะบอกเช่นกันว่า ขอพื้นที่ที่ใช้เหตุใช้ผลบ้าง
ส่วนคำถามว่าคนคิดจะแก้มาตรานี้ เป็นคนไทยหรือเปล่านั้น ดร.ยุกติ กล่าวว่า ถ้าคิดแตกต่างกันไม่ได้ ก็ไปอยู่เกาหลีเหนือดีกว่า
   "เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง ความคิดที่หลากหลาย ขณะที่ปัญหานี้ มีความไม่ไว้วางใจกัน คนชั้นสูงไม่ไว้ในคนชั้นล่าง คนชั้นล่างไม่ไว้ใจคนชั้นสูง ซึ่ง เราควรวางใจกัน ผมอยากบอกว่า ไว้ใจเราเถอะครับ เรายังไม่เปลี่ยนแปลงอะไรไปไกลกว่านี้หรอกครับ" ดร.ยุกติ กล่าว
ดร.สาวตรี สุขศรี กลุ่มนิติราษฎร์ กล่าวว่า ประเด็นมีข้อสงสัยว่า กษัตริย์ควรถูกคุ้มครองเป็นพิเศษหรือไม่นั้น ขอเรียนว่า ในประชาธิปไตย มีบุคคลที่ถูกคุ้มครองเป็นพิเศษได้ ไม่เฉพาะกษัตริย์ แต่หมายถึงประมุขแห่งรัฐทุกรูปแบบเพราะมีภาระต้องแบบรับมากกว่า แต่ไม่ใช่คุ้มครองเพราะมีฐานันดรพิเศษ หากแต่เป็นเหตุผลเพราะต้องแบกรับเรื่องสาธารณะเป็นพิเศษ ไม่ใช่ชาติกำเนิดพิเศษ หรือฐานันดรพิเศษ แล้วข้อเสนอนิติราษฎร์ ก็ให้ความคุ้มครองเป็นพิเศษ แต่ต้องพอสมควรแก่เหตุ ขณะที่โทษใน มาตรา 112 ขณะนี้ไม่เหมาะอย่างยิ่ง
ดร.สาวตรี กล่าวถึงความเห็นนักกฎหมายที่ว่ามาตรา 112 มีบัญหาที่การบังคับใช้ ไม่ใช่บัญหาตัวบท ว่า ไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องทั้งหมด เพราะจริงๆ แล้วก็มีปัญหาบทบัญญัติเช่นกัน อาทิ อัตราโทษ ศาลไม่สามารถใช้ดุลพินิจลงโทษน้อยกว่า 3 ปี อีกปัญหาคือ ไม่มีบทยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษ ข้อเสนอนิติราษฎร์ เห็นว่า ต้องมีบทยกเว้นโทษ ยกเว้นความผิด นอกจากนั้น มาตรา 112 เป็นอาญาแผ่นดิน จึงเปิดโอกาสให้ใครก็ได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงาน นี่เป็นปัญหาบทบัญญัติ ไม่ใช่เพียงการบังคับใช้
ดร.สาวตรี กล่าวว่า การรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 ทำได้ และไม่ใช่ความผิดตามมาตรา 112 เพราะ มาตรานี้ ไม่ใช่ตัวสถาบัน แต่เป็นเพียงมาตราหนึ่งเท่านั้นในประมวลกฎหมายอาญา สังคมยังแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ แล้วทำไมจะแก้ไขมาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญาไม่ได้ คำพูดแบบนี้ ถ้าออกมาจากปากนักการเมือง หรือนายทหาร ต้องไล่ให้กลับไปอ่านกฎหมายก่อน แต่ถ้าคนพูดเป็นนักกฎหมาย ขอให้คืนปริญญานิติศาสตร์มาเลย