'คอป.' เสนอ 'รัฐ' แก้ ม.112-ม.133

คมชัดลึก 31 ธันวาคม 2554 >>>




'คอป.' ส่งข้อเสนอ 'รัฐบาล' แก้ ม.112-ม.133 ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง แนะต้องกำหนดให้เลขาธิการพระราชวัง เป็นผู้ให้อำนาจดำเนินคดี เพื่อสร้างความปรองดองให้คนในชาติ

30 ธ.ค. 54 นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. ที่ผ่านมา คอป. ได้ประชุมหารือร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางการทำงานในปี 2555 โดยคณะกรรมการเห็นตรงกันที่จะเน้นการทำงานในด้านการออกเดินสายรับฟังข้อมูลจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อนำข้อมูลที่ได้รับมาสังเคราะห์ เพื่อแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นอกจากนี้ในวันที่ 15-17 ก.พ. 55 นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) จะเดินทางมายังประเทศไทย เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้สังคมไทยรับรู้ว่าการแก้ปัญหาในประเทศแอฟริกาใต้ที่เคยทำได้สำเร็จนั้น ทำอย่างไร แม้ว่านายโคฟีจะเคยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคอป.แล้ว แต่เพื่อให้สังคมได้รับทราบนายโคฟีจึงต้องการเผยแพร่ความคิดเห็นในวงกว้างให้สาธารณะและคนไทยได้รับทราบอย่างทั่วถึง
นายคณิต กล่าวอีกว่า ล่าสุดคอป.ได้ทำหนังสือด่วนที่สุดลงวันที่ 30 ธ.ค. 54 เรื่องข้อเสนอแนะของ คอป. เกี่ยวกับความผิดที่ต้องให้อำนาจหรือการดำเนินคดีมาตรา 112 ซึ่งสังคมมีความสับสนมาก ฝ่ายหนึ่งได้ใช้ความผิดฐานดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการดำเนินการทางการเมืองของตน อ้างว่าเพื่อเป็นการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์โดยเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหา ม.112 อย่างเคร่งครัด ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องของการใช้เสรีภาพในทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากกระทำเป็นความผิดอาญาย่อมขัดต่อเสรีภาพในการแสดงความเห็นจึงเสนอให้ยกเลิก ม.112
ทั้งนี้ คอป. ได้รับแต่งตั้งโดยฝ่ายการเมืองและดำรงอยู่โดยฝ่ายการเมืองหรือได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลก่อนและดำรงอยู่ได้เพราะได้รับการยอมรับจากรัฐบาลปัจจุบัน ที่ผ่านมา คอป. ทำงานอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อรัฐ และประชาชน ข้อเสนอแนะจึงเป็นการเสนอต่อทุกภาคส่วนของสังคม โดยตระหนักดีว่าสังคมปัจจุบันไม่ว่าความสงบจะเกิดขึ้นในประเทศใดก็ย่อมกระทบกับสังคมนานาประเทศด้วย
นายคณิต ระบุในหนังสือ คอป. ด้วยว่า ในส่วนของความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้น คอป. ได้ทำการศึกษาในแง่มุมของกฎหมายควบคู่ไปด้วย เพราะประโยชน์ในการแก้ไขปรับปรุงตัวบทกฎหมาย เพื่อให้เกิดความปรองดองต่อคนในชาติ โดยได้ทำการศึกษาถึงพื้นฐานความแตกต่างในสังคมประชาธิปไตยในต่างประเทศกับในสังคมไทย พบว่าในประเทศประชาธิปไตยคนในกระบวนการยุติธรรมจะมีความเป็นเสรีนิยมสูงแต่คนในกระบวนการยุติธรรมของไทยมีความเป็นอำนาจนิยมสูง
ในส่วนของพรรคการเมืองประเทศประชาธิปไตยอื่นๆ พรรคการเมืองจะมีหน่วยที่ปรึกษาด้านกฎหมาย และเศรษฐกิจทำงานอย่างต่อเนื่องจนเป็นสถาบันควบคู่กับพรรคการเมือง เพื่อศึกษาและแก้ปัญหาของชาติโดยใช้กฎหมาย แต่ในประเทศไทยพรรคการเมืองยังไม่พัฒนาไปถึงสถาบันทางการเมือง มีลักษณะเป็นพรรคเฉพาะกิจ หน่วยที่ปรึกษากฎหมายจึงมีฐานะเฉพาะกิจตามไปด้วย ความแตกต่างด้วยพื้นฐานจึงส่งผลถึงการแก้ปัญหาของประเทศที่แตกต่างกันไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐประสบปัญหาทางการเมือง ที่ต้องแก้ปัญหาความรุนแรงในทางการเมือง
คอป. ได้ศึกษาเหตุการณ์ในอดีตจากกลุ่มกองทัพแดงในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มที่นิยมคอมมิวนิสต์และนิยมความรุนแรงในรัฐบาล ซึ่งหัวหน้ากลุ่มกองทัพแดงถูกดำเนินคดี เนื่องจากกระบวนการยุติธรรมของญี่ปุ่นมีประสิทธิภาพสูงหรือกรณีกองทัพแดงในเยอรมันที่ใช้ความรุนแรงล้มล้างรัฐบาลในลักษณะอาชญากรก่อการร้าย ซึ่งนำไปสู่การแก้กฎหมายของเยอรมันในเวลาต่อมา ครั้งนี้การที่คอป.หยิบยกเหตุการณ์ที่แสดงถึงบทบาทของฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติของประเทศต่างๆ ขึ้นมาเพื่อชี้ให้เห็นว่าในระบอบประชาธิปไตยย่อมมีทางแก้ปัญหาในระบบในทางการเมืองอย่างมีหลักการหลักเกณฑ์ได้เสมอ เพียงแต่นักการเมืองของประเทศต้องมีเจตจำนงในการเมืองที่ถูกต้องและจริงจังเท่านั้น ในประเทศไทยทุกฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอด ประชาชนก็เบื่อหน่ายการยึดอำนาจของทหาร ครั้งหลังสุดกลุ่มนิติราษฎร์ได้เสนอให้ประกาศให้การกระทำบางอย่างอันเกี่ยวกับการยึดอำนาจให้เป็นโมฆะ ซึ่งถือเป็นการตื่นตัวที่ดีมาก
นายคณิต ระบุด้วยว่า เกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่กำลังเป็นที่โต้เถียงและขัดแย้งกันมา คอป. เห็นว่าการจะยกเลิก ม.112 เสียเลยน่าจะยังไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย แต่การที่จะคงสภาพเป็นความผิดอาญาในลักษณะปัจจุบันโดยไม่มีทางออกใดๆ ในการดำเนินคดีกับผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะยังมีการใช้ความผิดฐานนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง จากการศึกษาของคอป.พบว่าความผิดฐานนี้มีช่องทางในทางกฎหมายที่จะสร้างความสมดุลได้ เช่น ในเยอรมันมีการบัญญัติความผิดอาญาบางฐานที่ไม่ร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความผิดที่ผู้เสียหายเป็นบุคคลสาธารณะ ซึ่งอาจแปลเป็นภาษาไทยได้ว่าเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจกล่าวคือ แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นความผิดอาญาแต่การดำเนินคดีขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้เสียหายเป็นสำคัญ เช่นการดูหมิ่นประธานาธิบดี การสอบสวนจะเริ่มได้ต่อเมื่อประธานาธิบดีให้อำนาจดำเนินการเท่านั้น
นโยบายทางอาญาในระบบกฎหมายเยอรมันแสดงให้เห็นว่าประเทศที่เป็นประชาธิปไตย นโยบายทางอาก็ต้องเป็นนโยบายที่ส่งเสริมการฝึกและพัฒนาคน นักการเมืองก็ต้องฝึกและพัฒนา นักการเมืองในด้านจิตสำนึกความเป็นประชาธิปไตยในเมืองไทยพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ได้กล่าวไว้ว่า กฎหมายมีสองแบบ ถ้าเน้นอำนาจก็เป็นกฎหมายที่เด่นในด้านกำจัดคนชั่ว แต่ถ้าเป็นกฎหมายที่เน้นการศึกษาซึ่งมุ่งสร้างคนดีจะมีลักษณะในการจัดสรรโอกาส ในทางปกครองและกฎหมายจะต้องทำหน้าที่สองด้านคือ ส่งเสริมคนดีและกำราบคนร้าย แต่คอป.เห็นว่ากฎหมายของไทเน้นที่การบังคับด้านเดียว ส่วนมากจะจบลงด้วยบทกำหนดโทษ นโยบายทางอาญาของไทยทำให้เกิดสภาพกฎหมายอาญาเฟ้อ รัฐควรวางเป็นนโยบายเพื่อให้กฎหมายและระบบกฎหมายเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและดีขึ้น
สำหรับการแก้ปัญหาของชาติโดยเฉพาะการสร้างความปรองดอง คอป.เห็นว่านอกจากฝ่ายกระบวนการยุติธรรมแล้ว ฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติควรพิจารณาร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยคอป.ขอยื่นข้อเสนอแนะดังนี้
1. ควรตรากฎหมายกำหนดให้ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ โดยถือว่าการตรากฎหมายดังกล่าวมีความสำคัญและเร่งด่วน
2. ความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นความผิดที่คุ้มครองความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นคุณธรรมทางกฎหมายที่เป็นส่วนรวม เป็นเรื่องของสถาบันหาใช่เรื่องส่วนพระองค์ไม่ ดังนั้น การจะให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้มอบอำนาจให้ดำเนินคดีย่อมเป็นการไม่เหมาะสมและขัดต่อจารีตประเพณีของบ้านเมืองที่ต้องเทิดทูนสถาบัน เลขาธิการพระราชวังเป็นข้าราชการพลเรือนในประองค์ที่ได้รับการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัยจึงอาจกำหนดให้เลขาธิการพระราชวังเป็นผู้ให้อำนาจดำเนินคดี
3. ในส่วนของระวางโทษตาม ม.112 ควรมีความเป็นเสรีนิยมมากกว่าในปัจจุบันหรือโทษควรเบาลง อย่างน้อยควรกลับไปนำโทษที่เคยกำหนดไว้เดิมมาใช้
4. คอป. เสนอให้แก้กฎหมายอาญา ม.112 เสนอต่อรัฐสภา ดังนี้ ใครหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 14,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ความผิดตามวรรค 1 เป็นความผิดที่ต้องให้อำนาจ การสอบสวนดำเนินคดีจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอำนาจจากเลขาธิการพระราชวัง
5. ความผิดตาม ม.112 และ ม.133 เป็นเรื่องที่ยึดโยงกันเมื่อแก้ ม.112 ก็ต้องแก้ ม.133 ในคราวเดียวกัน โดยให้บัญญัติว่าผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายต่อราชาธิบดี ราชินี ราชสามี รัชทายาท หรือประมุขแห่งรัฐต่างประเทศ มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
นายคณิต ระบุท้ายข้อเสนอว่า คอป.ทำงานตั้งอยู่บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อประชาชนข้อเสนอแนะของคอป.ข้างต้นถือเป็นข้อเสนอแนะของทุกฝ่ายต่อรัฐสภาและประชาชนด้วย ในส่วนของรับสภานั้น คอป. เห็นว่าเหมาะสมที่จะผลักดันกฎหมายดังกล่าวและประชาชนเองก็ควรที่จะผผลักดันให้กฎหมายดังกล่าวเกิดขึ้นด้วย เพื่อช่วยกันสร้างสันติและความปรองดองของคนในชาติ โดยคอป. ได้ส่งเอกสารแนบท้ายข้อเสนอแนะประกอบด้วยหนังสือรวมบทความการก่อการร้ายกับการมอบอำนาจให้ดำเนินคดี หนังสือนิติศาสตร์แนวพุทธของ ป.อ.ปยุตโต เอกสารเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายญี่ปุ่นและเอกสารเกี่ยวกับกลุ่มก่อการร้ายในเยอรมัน