แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่ ลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย



แถลงการณ์ นปช.
วันที่ 28 ธันวาคม 2554


หลักการและเหตุผล

รัฐธรรมนูญฉบับปีพุทธศักราช 2550 จัดทำขึ้นตามบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปีพุทธศักราช 2549 โดยคณะรัฐประหารที่เรียกตนเองว่า คณะปฎิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ในภายหลัง
เนื้อหาสำคัญทางการเมืองของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงสนับสนุนการรัฐประหารยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธ ดังที่ปรากฏชัดเจนในมาตรา 36 และ 37 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว (2549) และยังให้ความคุ้มครองการรัฐประหารตั้งแต่อดีตปัจจุบันไปจนถึงอนาคตที่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้ไว้ จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์โดยสิ้นเชิง
แม้ว่ามีการอ้างอิงถึงการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ก็ตาม แต่การลงประชามติดังกล่าวดำเนินการภายใต้บรรยากาศเผด็จการทางการเมืองเพราะมีการประกาศกฏอัยการศึกถึง 47 ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ พร้อมกับส่งเจ้าหน้าที่ทหารพร้อมอาวุธบังคับประชาชนให้ต้องลงคะแนนยอมรับ หากไม่ยอมรับ คณะรัฐประหาร (คมช.) ก็จะใช้อำนาจเลือกเอารัฐธรรมนูญฉบับที่คณะรัฐประหารต้องการมาบังคับใช้โดยพลการ และมีการชักจูงให้สนับสนุนโดยการให้สัญญาว่าจะแก้ไขภายหลังประกาศใช้ การลงประชามติดังกล่าวจึงไม่อาจจะนับเป็นมติของประชาชนที่แท้จริง
ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 จึงไม่เป็นประชาธิปไตยทั้งที่มา เนื้อหาและกระบวน การ เพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยพัฒนาต่อไปอย่างยั่งยืน จึงมีความจำเป็นในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงโดยประชาชนขึ้น
การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนเพื่อให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงทำได้โดยการแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ 2550
จึงขอเสนอให้ดำเนินการแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ดังต่อไปนี้


มาตรา 291 (ฉบับแก้ไข)

ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วยสมาชิกจำนวน หนึ่งร้อยคน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน
ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายในเวลา สองร้อยสี่สิบวัน นับจากวันที่จัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญตามวรรคต้นเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว
การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ดังกล่าว สภาร่างรัฐธรรมนูญจะต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง
ให้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว ไปให้ประชาชนออกเสียงประชามติภายใน หกสิบวัน โดยกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้จัดดำเนินการออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติจะต้องมีประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบ มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ
ให้ประธานรัฐสภานำร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ประชาชนออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยแล้วขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ


แบบแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อ ที่อยู่ ลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย

   - กรอกเอกสาร พร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านอย่างละ 1 ฉบับซึ่งขีดคร่อมว่า "ใช้เฉพาะแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น" โดยเย็บเข้าด้วยกันทั้งหมด
   - ส่งแบบฟอร์มชุดนี้มาที่ศูนย์ประสานงาน นปช.

     2539 ชั้น 5 อิมพีเรียลเวิร์ล ถ.ลาดพร้าว 81 - 83 แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพ 10310

   - ภายในวันที่ 15 มกราคม 2555 เท่านั้น




ดาวน์โหลดเอกสารได้ที่: ห้องเอกสาร