‘อัมสเตอร์ดัม’ – ‘สุนัย’ เดินหน้ารณรงค์นำผู้กระทำผิดขึ้นศาลโลก

ประชาไท 21 มกราคม 2555 >>>





19 ม.ค. 55 – เวลา 17.30 น. ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ‘โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม’ พร้อมกับ ส.ส. สุนัย จุลพงศธร ร่วมกล่าวปาฐกถาในงาน ‘กลับสู่แสงสว่าง’ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ระบุ จะเดินหน้าโครงการล่ารายชื่อเพื่อผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ และดำเนินการนำผู้กระทำผิดในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเม.ย.-พ.ค. 53 เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายให้ถึงที่สุด
‘โรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม’ ทนายความผู้ได้รับการว่าจ้างจากอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร และผู้เขียน ‘สมุดปกขาว’ กล่าวในงานปาฐกถาหัวข้อ “ม.112 กับศาลอาญาระหว่างประเทศ” ว่า ถึงแม้ประเทศไทยจะยังไม่ได้ให้สัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ทำให้บางคนมองว่าไม่สามารถดำเนินคดีการสังหารหมู่ปี 2553ต่อไปได้ แต่อัมสเตอร์ดัมชี้ว่า การที่อดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีสองสัญชาติคือไทย และอังกฤษ ทำให้ไทยตกอยู่ภายใต้อำนาจการพิจารณาคดีของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งทำให้ศาลดังกล่าวมีสิทธิที่จะต้องรับคดีดังกล่าวไปวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจการสอบสวนต่อไป
อัมสเตอร์ดัมกล่าวว่า ขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการนำผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศมาช่วยในการร่างเอกสารการดำเนินคดี ประกอบด้วยนักกฎหมายชาวอเมริกัน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญพิเศษด้านกฎหมายทหารและการนิรโทษกรรม โดยหวังว่าจะทำให้คดีดังกล่าวผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญาระหว่างประเทศได้สำเร็จ
   “อย่างไรก็ตาม ถ้าเราแพ้ ผมก็จะยื่นเอกสารเพื่อให้ศาลโลกพิจารณาอีกครั้ง เราต้องเข้าใจว่า นี่ไม่ใช้การต่อสู้ทางกฎหมาย แต่เป็นการต่อสู้ทางการเมืองที่เป็นระบบ เราต้องนำหลักนิติรัฐมาสู่ประเทศนี้ เราต้องเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ เราต้องแก้ไขมาตรา 112” เขากล่าว “เราต้องการประเทศที่ทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย”
ในขณะที่ ส.ส. พรรคเพื่อไทย สุนัย จุลพงศธร กล่าวว่า ถึงแม้ว่าประเทศไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันกับศาลอาญาระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลสามารถเลือกให้สัตยาบันไปก่อนในบางข้อได้เป็นกรณีพิเศษ เช่น ธรรมนูญมาตรา 12 (3) ของศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเมื่อรัฐบาลให้สัตยาบัน และอนุญาตแล้ว ศาลฯ สามารถเข้ามาดำเนินการภายในประเทศได้ ถึงแม้จะยังไม่ได้ลงนามในสัตยาบันแบบสมบูรณ์ก็ตาม
สุนัยกล่าวว่า ตนเตรียมจะดำเนินโครงการรณรงค์ระยะยาวเพื่อสร้างความตระหนักรู้ในเรื่องศาลอาญาระหว่างประเทศ โดยจะเริ่มแคมเปญล่ารายชื่อเพื่อเข้ายื่นให้รัฐบาลให้สัตยาบันกับศาลโลก และหวังว่าจะสามารถนำผู้กระทำผิดในกรณีการปราบปรามประชาชนปี 2553 มาเข้าสู่การพิจารณาคดีในระดับสากล