ทีมข่าว นปช.
21 มกราคม 2555
อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางของ ปคอป. ในการคิดค่าชดเชยแก่ผู้เสียชีวิต
วันนี้ (21 มกราคม 2555) อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการคำนวนค่าชดเชยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การชุมนุมในช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ว่าตามข้อเสนอของคณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (ปคอป.) นั้น หากไม่นับรวมค่าปลงศพ ค่ารักษาก่อนเสียชีวิต และค่าบำรุงความเสียหายทางจิตใจแล้ว ปคอป.กำหนดวงเงินชดเชยผู้เสียชีวิตไว้คนละ อัตรา 4,500,000 บาทต่อราย โดยคำนวณตามฐานข้อมูลรายได้เฉลี่ยประจำต่อคนต่อเดือนตามสถิติรายได้ประชาชาติต่อหัวของประเทศไทย (GDP per capita) ของปี 2553 ซึ่งเท่ากับ 150,177 บาท ชดเชยค่าเสียโอกาสให้กับทุกครอบครัวในอัตราเดียวกันเป็นเวลา 30 ปี ประมาณว่าผู้เสียชีวิตอายุเฉลี่ยที่ 35 ปี จะมีโอกาสทำงานจนถึงอายุ 65 ปี จึงเท่ากับขาดโอกาสทำงานไป 30 ปี
อ.ธิดา ตั้งข้อสังเกตว่า ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่แล้วอยู่ในวัยแรงงานและเป็นผู้เลี้ยงดูครอบครัว ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติครอบครัวไทยแต่ละครอบครัวจะมีสมาชิกในครอบครัว 3.5 คนที่ประชากรวัยแรงงานหนึ่งคนจะต้องเลี้ยงดู ฉะนั้น หากต้องการชดเชยเพื่อให้ครอบคลุมการดูแลสมาชิกในครอบครัวที่สูญเสียผู้เลี้ยงดูไป แต่ละปีจะต้องชดเชยค่าเสียโอกาสในอัตรา 3.5 เท่าของรายได้ประชาติต่อหัว ซึ่งเมื่อคิดเป็นยอดรวมแล้วจะอยู่ที่ 15,750,000 บาทด้วยซ้ำ จึงจะครอบคลุมการดูแลสมาชิกในครอบครัวที่สูญเสียเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว หรือหากจะคิดในอีกมุมหนึ่ง ประชากรวัยแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงานในปี 2553 อยู่ที่ 38.13 ล้านคน จากประชากรไทยทั้งหมดประมาณ 63.66ล้านคน ซึ่งเวลาคิดรายได้ประชาชาติต่อหัวของประเทศไทย (GDP per capita) จะเอาประชากรทั้งหมด 63.66 ล้านคนมาเป็นตัวหารรายได้ประชาชาติ (GDP) ทั้งที่ผู้ที่ทำการผลิตนั้นมีเฉพาะประชากรวัยแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงานจำนวน38.13 ล้านคนเท่านั้น ฉะนั้นประชากรวัยแรงงานที่อยู่ในกำลังแรงงานจะสามารถผลิตมูลค่าได้ประมาณ 250,728 บาทต่อปี หากคิดว่าขาดโอกาสทำงานไป 30 ปี จะต้องให้ค่าชดเชยผู้เสียชีวิตที่ประมาณ 7.52 ล้านบาทจึงจะเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะให้ค่าชดเชยเพียงเท่านี้ ก็ยังบางภาคส่วนโจมตีการให้ค่าชดเชยผู้เสียชีวิตโดยมิได้คำนึงถึงความลำบากยากแค้นของผู้ที่สูญเสียญาติพี่น้องและบุตรหลานจากการปราบปรามโดยใช้อาวุธ