"เสวนาทางเลือกยกร่าง รธน." ประสานเสียงเสนอรับฟังประชาชน ปชป. หนุนตั้ง กก. อิสระ สอบถามประชาชนอยากแก้ประเด็นไหน "วุฒิสาร" ระบุ รธน. ไม่แก้ปัญหาทั้งหมด แนะกำหนดเจตนารมณ์ให้ชัด
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 22 ม.ค. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานราชดำเนินเสวนา ในหัวข้อ “ทางเลือกยกร่างรัฐธรรมนญ : เลือกตั้ง สสร. หรือตั้งกรรมการ ?” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย นายลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ นายวุฒิสาร ตันไชย รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และ นายโคทม อารียา อาจารย์สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
"ลิขิต" หนุนแก้ ม.237-ม.309-ที่มาองค์กรอิสระ
นายลิขิตกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะมาตราใด ต้องทำประชามติสอบถามประชาชน นอกจากนี้การแก้รัฐธรรมนูญก็ควรใช้วิธีแก้มาตรา 291 เพื่อตั้ง สสร. และผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา แม้ว่านายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) จะเสนอให้ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญนั้นก็คงทำไม่ได้ เพราะเป็นการคิดกันแค่ไม่กี่คน
นายลิขิตกล่าวต่อว่าสิ่งที่ต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญคือ มาตรา 237 การยุบพรรคซึ่งเป็นการนำเอาสิ่งที่ผิดมาใส่แล้วให้รัฐธรรมนูญเป็นตัวฟอก และมาตรา 309 ที่เป็นรัฐธรรมนูญเหนือรัฐธรรมนูญ เพราะกำหนดให้สิ่งที่ทำผิดในปัจจุบันกลายเป็นสิ่งที่ถูกต่อไปได้ถึงอนาคต ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องบนหลักนิติธรรม รวมถึงต้องแก้ไขเรื่องของที่มาของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ซึ่งไม่ชอบธรรม
ขณะ ที่ น.ส.ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ รองประธานสภาพัฒนาการเมือง กล่าวว่า ควรแก้ไขให้เป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นของประชาชนจริงๆ ไม่ว่า เนื้อหาจะเป็นอย่างไร ถ้ามาจากสิ่งที่ประชาชนสะท้อนมาจริงๆก็จะเป็นที่ยอมรับ ดังนั้นต้องดูที่กระบวนการสะท้อนเสียงของประชาชนด้วยการให้องค์กรต่างๆที่มี เครือข่ายในพื้นที่ระดับชุมชนหรือตำบล จัดเวทีให้ประชาชนพูดคุยกันถึงเรื่องของรัฐธรรมนูญให้ตกผลึก แล้วให้นักวิชาการที่อยู่ทั่วแต่ละพื้นที่นำความเห็นต่างๆมาสังเคราะห์ ส่งต่อมาสู่เวทีระดับจังหวัดจนมาถึงระดับประเทศ
ปชป. เสนอตั้งกรรมการอิสระสอบถามประชาชนอยากแก้ประเด็นใด
ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา และคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ แต่ต้องดูว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ และประชาชนรู้เรื่องของรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหนเพียงใด เราต้องดูว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการทำเพื่อใคร ซึ่งต้องไม่ทำเพื่อตอบแทนใครและอย่าทำแบบรวบรัด มิฉะนั้นจะยิ่งเกิดความขัดแย้ง ดังนั้นต้องมีการให้ความรู้กับประชาชนว่าอยากได้รัฐธรรมนูญแบบไหนเพื่อให้ ประชาชนได้ประโยชน์จริงๆ โดยเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ควรมีการตั้งคณะกรรมการอิสระพิจารณารัฐธรรมนูญหลายฉบับและสอบถาม ประชาชนว่าอยากให้แก้ไขในประเด็น เพื่อให้เขารู้จริงๆแล้วอนุมัติว่าเรื่องใดควรแก้ไขหรือไม่ นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องมีในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคือต้องยังคงกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุลเอาไว้
"วุฒิสาร" แนะกำหนดเจตนารมณ์ รธน. ให้ชัด
ส่วนนายวุฒิสาร กล่าวว่า ตนเห็นว่า ไม่ว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาเป็นอย่างไร คงไม่สามารถแก้ปัญหาของบ้านเมืองได้ทั้งหมด ดังนั้นต้องไปดูที่การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองของประเทศและของประชาชน การแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งต้องไม่ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกใน สังคมครั้งใหม่ อีกทั้งควรใช้โอกาสการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาเป็นการให้การศึกษาเรื่องของการ เมืองแก่ประชาชน และกระบวนการทำต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม
นายวุฒิสารกล่าวต่อว่าต้องกำหนดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เพราะจะเป็นบรรทัดฐานในการวินิจฉัยเมื่อเกิดความขัดแย้ง และถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ต้องระบุว่าอำนาจการรับหรือไม่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคือใคร อย่างไรก็ตามเราไม่ควรรังเกียจตัวแทนจากฝ่ายการเมือง
"พงษ์เทพ" เสนอใช้ 180 วันยกร่าง รธน.
ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย กล่าวว่า เราต้องกลับมาดูว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มีปัญหาจากจุดตั้งต้นยกร่างที่อยู่บนความไม่เชื่อถือประชาชน ทำให้อำนาจไปอยู่ที่องค์กรอิสระต่างๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาในการบริหารจัดการประเทศ จึงเกิดการร้องขอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ถ้าเป็นการแก้ไขโดยคณะกรรมการจะเกิดความสงสัยว่าจะมาจากไหน มีความน่าเชื่อถือได้แค่ไหน ตนจึงคิดว่าต้องใช้ สสร. ที่ได้มาจากประชาชนโดยตรง แต่ในการยกร่างนั้น สสร. ต้องมีกระบวนการลงไปรับฟังประชาชนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ ตนคิดว่าการยกร่างแก้ไขน่าจะใช้เวลา 180 วัน แต่ระหว่างที่รอการมี สสร. หลายๆองค์กรน่าจะหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมาให้ประชาชนได้ถกเถียง เพื่อให้เมื่อมี สสร. แล้ว จะได้นำข้อมูลตรงนั้นมาพิจารณา อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าถ้ามีการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ จะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดีกว่าฉบับปี 2550 อย่างแน่นอน
นายโคทม อารียา ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรมีการเรียนรู้จากอดีต รวมถึงต้องเป็นกระบวนการที่มีอำนาจหน้าที่อย่าไปกีดกันใคร เนื่องจากในการตัดสินใจของคนต้องดูอยู่บนความรู้เท่าทัน ถ้าจะเป็นการคัดเลือกคนมาเป็นกรรมการจะทำให้อ่อนความชอบธรรม แต่ถ้าเป็นการเลือกตั้งก็ควรให้เป็นไปตามจำนวนประชากรที่มีในจังหวัดนั้น ควรมีการพูดคุยว่าเป้าหมายของการแก้คืออะไร ไม่ควรมีการกำหนดเวลามากมิฉะนั้นอาจไม่ได้ของที่ดี และไม่ควรกล่าวโทษว่าการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อใคร
"อภิสิทธิ์" ไม่เห็นด้วยเสียงเรียกร้องให้ทหารปฏิวัติ
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกรณีมีกลุ่มคนออกมาเรียกร้องให้ทหารออกมาปฏิวัติเพราะสวนทางกับทางเดินของประเทศ ไม่ควรเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงนอกระบบรัฐธรรมนูญ การไม่พอใจรัฐบาลเป็นเรื่องความเห็นที่แตกต่างกันได้ หากไม่พอใจการบริหารงานรัฐบาลควรใช้กลไกระบบดำเนินการ ซึ่งมีช่องทางตามรัฐธรรมนูญดำเนินการอยู่
ส่วนกรณีนางนลินี ทวีสิน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ข้อเท็จจริงคือทางการสหรัฐขึ้นบัญชีดำ ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเพราะอะไรถึงนำคนที่มีปัญหาเข้ามาทำงาน เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกลไกการทำหน้าที่ในการตรวจสอบของฝ่ายค้านแต่ไม่ได้หวังพุ่งเป้าไปที่นายกรัฐมนตรี
นิติราษฎร์ตั้งโต๊ะล่ารายชื่อแก้ ม.112
ผู้สื่อข่าวรายงานจากหอประชุมศรีบูรพา มธ.ท่าพระจันทร์ เมื่อเวลา 13.00 น. ว่า นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์ได้เปิดเวทีอภิปรายหัวข้อ "ลบล้างผลพวง รัฐประหาร-นิรโทษกรรม-ปรองดอง" ที่จะเสนอแนวทางลบล้างผลพวงจากการรัฐประหารทั้งหมด รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่ยึดโยงกับการรัฐประหาร โดยบรรยากาศก่อนเริ่มการอภิปรายได้มีการแจกคู่มือประชาชนลบล้างผลพวงรัฐประหาร พร้อมกับมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อประชาชนสนับสนุนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคณะกรรมการรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) ด้วย